สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
โปแตสเซียมกับผักใบเขียวเข้ม

โปแทสเซียมกับผักใบเขียวเข้ม      

          การมีสุขภาพดีคือการสร้างความสมดุลให้กับร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว พักผ่อนเพียงพอ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เพียงแค่นี้ก็มีร่างกายที่แข็งแรงและมีอายุอยู่ได้ยืนยาว

          อาหารการกินนับเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพ การทานอาหารแบบ  2:1:1 ซึ่งเป็นสูตรที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก และร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน

          โดยแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่ากัน สองส่วนแรกเป็นผักสด หรือผักสุกมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป  ส่วนที่สามเป็นข้าว-แป้ง ยิ่งเลือกทานข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท จะยิ่งดีต่อร่างกาย ส่วนสุดท้ายเป็นโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ หรือไม่ติดมันไม่ติดหนัง  เนื้อไก่ เนื้อปลา ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ อาหารทะเล 

          ทว่าสิ่งที่มีประโยชน์  หากน้อยเกินไปก็ไม่ดี  มากเกินไปก็ไม่ดีอย่างผักใบเขียวเข้มที่เรารู้ว่ามีทั้งแร่ธาตุ ใยอาหาร วิตามินที่มีประโยชน์ ซึ่งน้อยคนจะรู้

          ผักใบเขียวเข้ม มีโปแทสเซียมปริมาณสูง คนปกติทานเข้าไปมากก็คงจะไม่เป็นไร แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต จะเป็นอันตรายได้

          เพราะคนที่ไตเสื่อมจะกรองเอาโปแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้ร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมสูงเกินไป ผลที่ตามมาคือเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ใจสั่น คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชีพจรเต้นช้าลง  หรือหัวใจอาจหยุดเต้นได้  

           แต่ผู้ที่เป็นโรคไตก็ยังต้องการโปแทสเซียมในปริมาณเหมาะสม เพื่อช่วยลดอาการบวมน้ำ ปรับสมดุลของน้ำในร่างกายให้เป็นปกติ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว  

           วันนี้ สถาบันอาหาร มีข้อมูลตัวอย่างผักใบเขียวเข้มสดๆ 5 ชนิด จำนวน 5 ตัวอย่าง ตลาดในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์ปริมาณโปแทสเซียม นำมาฝากผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ที่ต้องดูและเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วยโรคไต นอกจากต้องลดเค็มควรลดผักใบเขียวเข้ม แล้วหันมาเลือกทานผักสีเขียวอ่อน สีขาวแทน เช่น บวบ ฟัก ผักกาดขาว แตงกวา ถั่วงอก มะเขือยาว

           ส่วนผู้ที่ร่างกายปกติ สารอาหารที่ว่ามีประโยชน์ถ้าได้รับพอดีๆ ก็จะให้คุณ แต่ถ้ามากเกินไปก็จะให้โทษได้เช่นกัน.

ผลวิเคราะห์โปแทสเซียมในผักใบเขียวเข้ม

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

โปแทสเซียม

(มิลลิกรัม/ 100 กรัม)

ยอดชะอม ร้านที่ 1 ย่านอรุณอมรินทร์

420.47

ผักคะน้า ร้านที่ 2 ย่านพาต้า

314.44

ผักบุ้ง ร้านที่ 3 ย่านปิ่นเกล้า

331.45

ผักแขนง ร้านที่ 4 ย่านอรุณอมรินทร์

309.93

ผักกวางตุ้ง ร้านที่ 5 ย่านอรุณอมรินทร์

311.40

วันที่วิเคราะห์ 18-22 ม.ค. 2562   วิธีวิเคราะห์ In-house method T9152 based on AOAC(2016) 984.27   
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety
เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins