สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคในหอยดอง

เชื้อก่อโรคในหอยดอง

          “หอยดอง” เป็นอาหารดิบที่ทำมาจากหอยแมลงภู่ตัวโตแกะเปลือก เลือกใช้แต่เนื้อล้วนๆ นำมาล้างให้สะอาดหลายๆรอบ แล้งดองด้วยน้ำส้มสายชู น้ำปลา หรือเกลือแล้วแต่สูตร ซึ่งหลังจากปรุงรสน้ำดองแล้วนำหอยใส่ภาชนะ ปิดฝา ตากแดดทิ้งไว้ 3 วัน จะได้หอยดอง นำมายำกับสมุนไพรหลายชนิดทั้ง ขิงซอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูสวนซอย บีบมะนาวเล็กน้อยเพื่อให้มีกลิ่นหอมและเปรี้ยว รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ พร้อมผักเคียง

          ด้วยความที่หอยดองเป็นอาหารรับประทานดิบ ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องความสะอาดของหอย รวมทั้งสมุนไพรสดที่นำมาปรุง เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเชื้อที่มักพบในหอยดองเช่น วิบริโอ คอเลอเร

          เชื้อชนิดนี้ปกติพบในแหล่งน้ำกร่อย สัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู และในอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของโรค ฉะนั้นจึงพบเชื้อชนิดนี้ ปนเปื้อนในอาหารทะเลดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่มีแมลงวันตอม หากร่างกายได้รับเชื้อดังกล่าว จะมีอาการปั่นป่วนในลำไส้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ รายที่อาการไม่หนักจะหายเองภายใน 1 วัน

           ที่ซ้ำร้ายยังสุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือลําไส้อักเสบ

           ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการท้องร่วงอย่างหนัก อุจจาระเป็นน้ำ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่รักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

            เพื่อความสบายใจ “สถาบันอาหาร” ได้สุ่มตัวอย่างหอยดองจำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ คอเลอเร ปนเปื้อน

            ผลปรากฏว่าหอยดองทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนเลย แต่อย่างไรก็อย่าชะล่าใจนัก ควรเลือกซื้อหอยดองจากร้านที่ทำสดใหม่ และมั่นใจในความสะอาดจะดีที่สุด และอย่ารับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้บ่อยมากนัก จะดีที่สุด.

ผลวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ คอเลอเร ในหอยดอง

 

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

วิบริโอ คอเลอเร

(พบ,ไม่พบ/ 25 กรัม)

หอยดอง ร้าน 1 ย่านคลองสามวา

ไม่พบ

หอยดอง รถเข็นริมทาง ย่านเยาวราช

ไม่พบ

หอยดอง ยี่ห้อ 1

ไม่พบ

หอยดอง ยี่ห้อ 2

ไม่พบ

หอยดอง ร้านแผงลอยริมทาง ย่านพรานนก

ไม่พบ

 

      วันที่วิเคราะห์ 1 - 3 ต.ค. 2562     วิธีวิเคราะห์  FDA-BAM Online, 2004 (Chapter 9)

      ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

      โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins