สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ฟอร์มาลดีไฮด์กับ "กุ้งสด"

ฟอร์มาลดีไฮด์กับ "กุ้งสด"

           ยุคนี้รูปแบบการทานอาหารของคนเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ เลียนแบบ ติดตามการกินจากโซเชียล ซึ่งมีหลายเพจที่ลงเรื่องราวและรีวิวเกี่ยวกับอาหารการกินทั้งร้านอาหารและเมนูแนะนำให้คนติดตาม อาหารรสจัด เช่น ส้มตำ ยำ ลาบ โดยเฉพาะที่ทำจากอาหารทะเลสดๆ ทั้งจากปูสด กุ้งสด หมึกสด หอยแครง หอยแมลงภู่และปลา เป็นเมนูที่คนไทยชื่นชอบอันดับต้นๆ

          อาหารทะเลสดๆ เมื่อนำมาปรุงอาหารจะได้รสหวาน เนื้อสัมผัสหยุ่นๆ ไม่ยุ่ยและไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งหลายเมนูรสแซ่บของไทยจึงนำอาหารทะเลสดมาปรุงโดยไม่ทำให้สุกหรือทานสดๆ เช่น กุ้งแช่น้ำปลา ยำหรือส้มตำกุ้งสด

          แต่อย่าลืมกันว่าอาหารทะเลสดๆอาจแฝงไปด้วยเชื้อโรคและสารที่เป็นอันตรายได้ เช่น ฟอร์มมาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน ปกติจะใช้ในงานด้านอุตสาหกรรม เกษตรและทางการแพทย์ ห้ามใช้ในอาหารเด็ดขาด คนทั่วไปรู้จักว่าเป็นน้ำยาใช้ดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย เมื่อเราทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลินเข้าไป จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

         หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยร่างกายจะกำจัดออกได้เองทางเหงื่อและปัสสาวะ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน คือ ทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย

         เพื่อให้ผู้บริโภคระมัดระวังการเลือกซื้ออาหารทะเลสด สถาบันอาหารได้ทำการสุ่มตัวอย่างกุ้งสด 5 ตัวอย่างจาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนำมาวิเคราะห์ ผลที่ได้พบว่ากุ้งสดทุกตัวอย่างไม่มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน

        นับเป็นเรื่องน่ายินดีต้อนรับปีหนูทองปีนี้ ขอแนะอีกนิดก่อนซื้อควรดมกลิ่น หากมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้หลีกเลี่ยง ที่สำคัญกุ้ง อาหารทะเลสดๆก่อนทานทุกครั้ง ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งก่อนนำมาปรุงให้สุกเพื่อความปลอดภัย.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins