สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สีผสมอาหารในเต้าหู้เหลืองประทับตรา

สีผสมอาหารในเต้าหู้เหลืองประทับตรา

          วันตรุษจีน วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน ที่ชาวจีนจะเลือกสรรอาหารมงคล สำหรับใช้ไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ ทั้งหมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา ข้าวสวย ขนมไหว้ เช่น ถ้วยฟู ขนมเข่ง ขนมเทียน ซาลาเปา ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี องุ่น แอปเปิ้ล รวมถึงเหล้าและน้ำชา

          นอกจากนั้นชาวจีนจะทานผักที่มีความหมายที่เป็นมงคล เช่น กวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ต้นกระเทียม หัวไชเท้า ขึ้นฉ่าย โดยนำมาผัดหรือปรุงกับอาหารมงคลอื่นๆ เช่น ผัดกุยช่ายกับตับ ผัดถั่วงอกกับเต้าหู้ ผัดต้นกระเทียม ต้มจับฉ่าย เต้าหู้เหลืองปั๊มอักษรจีน เป็นหนึ่งในอาหารมงคลที่นำมาปรุงเป็นอาหารไหว้เจ้าเพราะเต้าหู้แปลว่า บุญ และความสุข

          เต้าหู้สีเหลืองสวยที่มีอักษรภาษาจีนสีแดงนั้น หากใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ ชนิดที่กฎหมายอนุญาตและใช้ในปริมาณไม่มากเกินไป หรือตามกฎหมายกำหนด ย่อมไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่ถ้าผลิตนำสีย้อมผ้ามาใช้ปั๊มตัวอักษร จะส่งผลต่อร่างกาย มีผลต่อสมอง และบางชนิดก่อให้เกิดมะเร็ง กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร

         เพื่อความสบายใจในช่วงตรุษจีน สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างเต้าหู้เหลืองประทับตราสีแดง จำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์สีผสมอาหารสังเคราะห์ 8 ชนิด ประกอบด้วย กลุ่มสีแดงและชมพู ได้แก่ เอโซรูบีน, ปองโซ 4 อาร์, อีริโทรซิน กลุ่มสีเหลือง ได้แก่ ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ, ตาร์ตราซีน กลุ่มสีน้ำเงินและเขียว ได้แก่ อินดิโกทิน, บริลเลียนต์ บลู เอฟซีเอฟ, ฟาสต์กรีน เอฟซีเอฟ

         พบว่ามีเต้าหู้ 3 ตัวอย่าง ใช้สีผสมอาหาร 2 ชนิด คือ ปองโซ 4 อาร์ และตาร์ตราซีน ตกค้าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าท่านที่ชื่นชอบเต้าหู้เหลืองก็ยังทานกันได้ แต่อย่าทานในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจเกิดการแพ้ ผื่นคันได้

        ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย เลือกทานอาหารที่มีสีตามธรรมชาติจะดีกว่า.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins