สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
แคดเมียมในสาหร่ายปรุงรส

แคดเมียมในสาหร่ายปรุงรส

        สาหร่าย แหล่งโปรตีนนิยมทานกันมากในญี่ปุ่น เกาหลี จีนและไทย ในอาหารจีนและญี่ปุ่นเกือบทุกชนิดมักมีส่วนผสมของสาหร่าย

        สาหร่ายปรุงรส นับเป็นอาหารทานเล่นที่เด็กๆ ต่างชื่นชอบ ปัจจุบันมีการนำสาหร่ายมาทอดหรืออบกรอบ แล้วปรุงรสบรรจุซองขาย ทว่าการเลือกซื้อสาหร่ายปรุงรส เป็นอาหารทานเล่นอาจต้องระมัดระวัง และจำกัดปริมาณที่ทานในแต่ละวัน เพราะหากผู้ผลิตนำสาหร่ายทะเลที่เจริญเติบโตในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนโลหะหนักมาใช้เป็นวัตถุดิบ อาจทำให้สาหร่ายปรุงรสมีโลหะหนักเช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท ปนเปื้อน

        เมื่อรับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และหากได้รับแคดเมียมปริมาณมากๆ ส่งผลทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ไตและตับถูกทําลาย ส่วนการได้รับปริมาณแคดเมียมน้อยๆแต่เป็นเวลานาน ส่งผลทำให้เป็นพิษต่อไตและกระดูกได้เช่นกัน

        มันมากับอาหาร โดยสถาบันอาหารร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้สุ่มตัวอย่างสาหร่ายปรุงรสจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่จำหน่ายตามร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เกต ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์โลหะหนักแคดเมียมปนเปื้อน

         ผลวิเคราะห์พบว่าสาหร่ายปรุงรสทั้ง 5 ตัวอย่าง พบแคดเมียมปนเปื้อนและมีอยู่ 1 ตัวอย่าง พบแคดเมียมในปริมาณเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ได้กำหนดให้พบแคดเมียมปนเปื้อนในสาหร่ายพร้อมบริโภค (สภาพแห้ง) ได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

          ฉะนั้น ผู้ปกครองควรแนะนำ ให้ความรู้กับเด็กๆที่ชอบทานสาหร่ายปรุงรส รับประทานได้แต่ไม่ควรมากเกิน และควรทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัยและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins