ข่าวประชาสัมพันธ์สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร

สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดันผู้ประกอบการแปรรูปกัญชงสู่เชิงพาณิชย์

       กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ผลักดันผู้ประกอบการ แปรรูปกัญชงสู่เชิงพาณิชย์รองรับ BCG Model  จัดงานสัมมนาออนไลน์เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชงสู่เชิงพาณิชย์” ภายใต้โครงการ “สนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชง เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” ประจำปีงบประมาณ  2564  ร่วมกับ 3 สถาบันเครือข่าย สถาบันอาหาร (สอห.) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) ผลักดันการแปรรูปกัญชง นำทุกส่วนของกัญชง (เมล็ด ช่อดอก ใบ ก้านใบ กิ่ง เปลือก แกนในลำต้น ราก) มาแปรรูปเป็นสินค้า สนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่จากกัญชง สร้างมูลค่าเพิ่มต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย หวังดันไทยเป็น  Hemp Hub of ASEAN ภายใน 5 ปี

 

       วันนี้ (2 กันยายน 2564)  นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงอุตสาหกรรม”  ในงานสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง สู่เชิงพาณิชย์” ภายใต้โครงการ “สนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชง เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” ปี 2564  โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และหน่วยร่วมดำเนินการ 3 สถาบันเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ร่วมจัดงานเพื่อเผยแพร่การถ่ายทอดเทคโนโลยีแปรรูปกัญชงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงไปสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชงให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป  โดยได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐ  สถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์จำนวนกว่า  500 ราย

 

       โดยมี นางสาวพะเยาว์ คำมุข  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน พร้อมกล่าวการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงได้ครบทุกส่วนตามนโยบายประเทศไทยที่สนับสนุนกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่  ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากกัญชง  25 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 6 ผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์ 2 ผลิตภัณฑ์ สารสกัดจากกัญชงและเครื่องสำอาง  5  ผลิตภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์จากยางคอมปาวด์ 4 ผลิตภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์คอมโพสิต 3 ผลิตภัณฑ์ ที่นำส่วนของใบ เมล็ด เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และรากกัญชงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปไปสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชงให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้สนใจทั่วไป สอดคล้องตามแนวนโยบาย BCG Model จึงนับเป็นการสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงของประเทศไทยให้เติบโตและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins