การวิเคราะห์ความเสี่ยง คืออะไร
การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) หมายถึง กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีขั้นตอนเป็นระบบ ให้เหตุผล ข้อมูลและสร้างความมั่นใจ และใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อลดความเสี่ยงอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นกระบวนการที่มีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ
1. การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management)
2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
3. การสื่อสารข้อมูลความเสี่ยง (Risk Communication)
ทำไมต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง
1. เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค
2. เพื่อจัดระบบการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร
3. เพื่อนำมาใช้กำหนดมาตรฐานและมาตรการต่างๆ บนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
องค์ประกอบของการวิเคราะห์ความเสี่ยง
การวิเคราะห์ความเสี่ยงต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) และกระบวนการของการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) โดยใช้การสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงเป็นตัวช่วยในการสื่อสารระหว่างผู้จัดการความเสี่ยง ผู้ประเมินความเสี่ยงและกับบุคคลที่สาม คือ ผู้ผลิตอาหาร ผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิตอาหาร
การวิเคราะห์ความเสี่ยง มีหลักการอย่างไร
1. กำหนดขอบเขตการประเมิน
2. คำนึงถึงข้อจำกัดที่มี เช่น ข้อมูล ความแปรปรวน (Variability) และความไม่แน่นอน (Uncertainty)
3. ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณให้มากที่สุด และสามารถใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพได้ด้วย
4. มีความโปร่งใส มีการบันทึกและการจัดทำเอกสาร
5. มีความสม่ำเสมอ และสอดคล้อง
6. มีการปฏิสัมพันธ์หรือการสื่อสารระหว่างผู้ประเมินความเสี่ยงและผู้บริหารจัดการความเสี่ยง
7. การใช้สหสาขาวิชาการและการจัดการองค์ความรู้
นิยามคำศัพท์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง
Hazard หมายถึง สารหรือวัตถุทางชีวภาพ เคมี หรือกายภาพที่มีอยู่ในอาหาร หรือสภาวะของอาหารที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ
Risk หมายถึง ความสัมพันธ์ของโอกาสที่จะเกิดผลร้ายต่อสุขภาพ และความรุนแรงของผลกระทบที่มาจากอันตรายในอาหาร
Risk Assessment Policy หมายถึง การจัดทำเอกสารแนวทางเพื่อหาทางเลือกต่างๆ และการตัดสินใจที่สัมพันธ์กัน และเพื่อใช้ในการตัดสินใจที่เหมาะสมในการประเมินความเสี่ยง เพื่อให้คงความสมบูรณ์ของหลักการทางวิทยาศาสตร์
Risk Profile หมายถึง การอธิบายรายละเอียดสภาพปัญหาความปลอดภัยของอาหาร