การวิเคราะห์ความเสี่ยง
  • การสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication)

    การสื่อสารความเสี่ยง คืออะไร
              การสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication) หมายถึง การติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารและความคิดเห็นระหว่างผู้ประเมินความเสี่ยง (risk assessor) ผู้จัดการความเสี่ยง (risk manager) ผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาและกลุ่มหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องและสนใจ (stake holder) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ  อาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารความเสี่ยงนั้นมีอยู่ในทุกกระบวนการของการวิเคราะห์ความเสี่ยง
             

    ภาระกิจของการสื่อสารความเสี่ยง
                 การสื่อสารความเสี่ยงครอบคลุมมากกว่าการเผยแพร่ข้อมูล โดยภาระกิจหลักของการสื่อสารความเสี่ยง คือ การกำหนดกระบวนการที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความเห็นที่สำคัญต่อการประเมินความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้สนใจทั้งหมด และมั่นใจว่าได้รวมข้อมูลและความเห็นทั้งหมดที่จำเป็นต่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพไว้ในกระบวนการตัดสินใจ และการแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างผู้สนใจทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นการสื่อสารความเสี่ยงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกระบวนการประเมินความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยง
     

    การสื่อสารความเสี่ยงควรทำเมื่อใด                             
              การสื่อสารความเสี่ยงเป็นงานที่ต่อเนื่องจากการจัดการความเสี่ยงเป็นแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญที่จะลดอันตรายในห่วงโซ่อาหาร  การเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร  การประชาสัมพันธ์เรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยของอาหารให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัว  การรวมกลุ่มองค์กรประชาชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค  และการฝึกอบรมให้การศึกษาหลักสูตรความปลอดภัยด้านอาหารเหล่านี้จะสร้างและเสริมประสิทธิภาพของแนวทางและนโยบายการจัดการปัญหาสภาพความเสี่ยงในห่วงโซ่อาหารของแต่ละประเทศได้
     

    เป้าหมายของการสื่อสารความเสี่ยง


    1. ส่งเสริมการรับรู้ และความเข้าใจในเรื่องที่เฉพาะเจาะจง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยง
    2. ส่งเสริมความสม่ำเสมอ และความโปร่งใสในการจัดทำทางเลือก /ข้อเสนอแนะในการจัดการความเสี่ยง
    3. ปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยรวมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
    4. เสริมสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างผู้มีส่วนร่วม
    5. ให้การสนับสนุนความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับกระบวนการเพื่อเสริมความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร
    6. ส่งเสริมความเกี่ยวข้องของผู้สนใจทั้งหมดตามความเหมาะสม

จำนวนครั้งที่อ่าน 8727 กลับสู่หน้าหลัก