ขนมขบเคี้ยว อาหารชิ้นเล็กๆ ไว้ทานเล่นเวลาหิวก่อน หรือหลังอาหาร บางคนทานก่อนนอนก็ยังได้ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบเป็นหลัก แต่งกลิ่นให้ใกล้เคียงส่วนผสม เช่น กุ้ง ปลาหมึก สาหร่าย ปูอัด ไก่ หมู ชีส เป็นต้น เพิ่มรสชาติเค็ม หวาน เปรี้ยว ตามสัดส่วนของความอร่อย เด็กๆ ชอบซื้อหามาทาน แถมราคาก็พอรับได้ จึงผลิตขายกันแบบไม่ขาดตลาด หากทานในปริมาณพอเหมาะในแต่ละวันคงไม่น่ามีปัญหาอะไร
แต่หากทานมากเกินความจำเป็น หรือไม่ทานอาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ ร่วมด้วยอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เพราะขนมขบเคี้ยวอาจมีโลหะหนัก เช่น ตะกั่วปนเปื้อนได้
ปกติตะกั่วมักจะพบปนเปื้อนได้ทั้งในดินและน้ำ รวมถึงพืชผัก ผลไม้ที่เพาะปลูกในดิน และใช้น้ำที่มีตะกั่วปนเปื้อน หากผู้ผลิตนำพืชผัก ผลไม้ที่มีตะกั่วปนเปื้อนเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร หรือส่วนประกอบของขนมขบเคี้ยวคราวนี้อันตรายก็ตกอยู่กับผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นของคู่กันกับขนมขบเคี้ยวสารตะกั่วที่เราได้รับจากอาหารนั้น มันจะค่อยๆ เข้าไปสะสมในร่างกายทีละน้อยจนถึงเวลาหนึ่งจึงแสดงอาการ อาการส่วนใหญ่ที่พบบ่อย คือ อาการของระบบย่อยอาหารซึ่งจะทำให้ปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องผูก ไปจนถึงขั้นเป็นอัมพาต และหมดสติได้
ตามกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้อาหารมีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม วันนี้ สถาบันอาหาร ได้ทำการสุ่มตัวอย่างขนมขบเคี้ยวจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อเพื่อวิเคราะห์หาสารตะกั่วปนเปื้อน ผลปรากฎว่าทุกตัวอย่างไม่พบตะกั่วปนเปื้อนเลยอาจเป็นเพราะวัตถุดิบตั้งต้นเราดี กระบวนการผลิตมีมาตรฐาน คนรับประทานจึงปลอดภัย...