เชื้อก่อโรคในปูไข่ดอง
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงก่อนนอน จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตก็ว่าได้
แล้วดูอะไรในโซเชียล
สิ่งแรก อัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ตามติดด้วยความบันเทิง ดูละครดังย้อนหลัง แล้วเข้าสู่โหมดแหล่งช็อป ขายกันทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องสำอางประทินผิว อาหารการกินที่มีหลากหลายรูปแบบ บางเมนูสามารถดึงคนกินให้ไปตามรีวิวิ และเมนูปูไข่ดองเยิ้มๆ ราดด้วยน้ำจิ้มซีฟู้รสเด็ดเป็นอีกหนึ่งในเมนูที่เห็นเมื่อไรเป็นต้องใช้ชีวิตตามติดรีวิว
การทำปูไข่ดองไม่ยาก เริ่มจากนำปูไข่สดมาน๊อกน้ำแข็งแกะกระดอง ล้างทำความสะอาด ขจัดคราบโคลนที่ติดตามซอกก้ามปู พักให้สะเด็ดน้ำ ในส่วนของการปรุงน้ำดองปู ส่วนผสมใช้ น้ำปลา น้ำตาลทราย น้ำ และอาจมีสูตรเด็ดที่ใส่ส่วนผสมอื่นลงไปแล้วแต่ใครจะมีสูตรเด็ดเคล็ดลับ จากนั้นนำมาต้มให้เดือด พักให้เย็น แล้วราดน้ำปรุงให้ท่วมตัวปู ดองทั้งไว้ 1 คืน
คนที่มีภูมิต้านทานดี ทานปูไข่ดองเข้าไปอาจไม่เป็นอะไร แต่รายที่มีความเปราะบาง สุขภาพไม่แข็งแรง จากนี้ไปคงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เพราะจากการสุ่มตัวอย่าง ปูไข่ดอง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า ใน 4 จังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส เชื้อดังกล่าวอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามชายฝั่งทะเล ในน้ำทะเล มักพบปนเปื้อนในปลา กุ้ง หอย และปู ที่เรานำมาปรุงเป็นอาหาร หากร่างกายคนเราได้รับเข้าไปส่งผลทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ท้องร่วง เป็นตะคริวในช่องท้อง คลื่นเหียน วิงเวียน อาเจียน ปวดหัว มีไข้และหนาวสั่น
และ...ผลการวิเคราะห์จากการสุ่มตัวอย่าง พบว่าปูไข่ดองมีการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวทั้งหมด
เมื่อเห็นผลการวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว หากชอบก็ควรทานแต่น้อยและนานๆครั้ง ที่สำคัญควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มั่นใจได้ว่าสะอาดปลอดภัย
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (พบ, ไม่พบ /25 กรัม) |
ปูไข่ดอง ร้านที่ 1 ย่านมหาชัย จ. สมุทรสาคร |
พบ |
ปูไข่ดอง ร้านที่ 2 ย่านแม่กลอง จ. สมุทรสงคราม |
พบ |
ปูไข่ดอง ร้านที่ 3 ย่านชะอำ จ. เพชรบุรี |
พบ |
ปูไข่ดอง ร้านที่ 4 ย่านอรุณอมรินทร์ กรุงเทพ |
พบ |
ปูไข่ดอง ร้านที่ 5 ย่านเยาวราช กรุงเทพ |
พบ |
วันที่วิเคราะห์ 9 - 17 ม.ค. 2561 วิธีวิเคราะห์ ISO/TS 21872-1 : 2017
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร
กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/