ตะกั่วกับขนมปังปี๊บ
เดือนมกราคม เดือนแรกแห่งปีที่มีความพิเศษ เพราะยังอยู่ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลอง
ยังคงมีการมอบของขวัญปีใหม่ให้ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพรัก รวมถึงเด็กๆ และที่ขาดไม่ได้คือการจัดเลี้ยง
อาหารการกินจะมีความหลากหลายทั้งคาวและหวาน ส่วนขนมแจกเด็กๆ ที่เห็นจะขาดไม่ได้
คือ ขนมปังปี๊บ ขนมปังหลากหลายชนิด เช่น ขนม ABC, ขนมขาไก่, ขนมปังสับปะรด, แครกเกอร์, บิสกิต,
ขนมปังกรอบที่บรรจุอยู่ในปี๊บ ไม่ว่าจะเป็นขนมชนิดใดเรามักเรียกกันตามภาชนะที่ใส่ว่า ขนมปังปี๊บ
ปกติ ปี๊บที่ใช้มีทั้งปี๊บเก่าและใหม่ ปี๊บใหม่โดยทั่วไปจะผลิตจากเหล็กพิมพ์สีเกรดอาหาร
กระจกซีลด้วยกาวป้องกันอากาศเข้า ส่วนปี๊บเก่าที่ผ่านการใช้งานแล้วก็นำมาล้างทำความสะอาด
และตกแต่งให้อยู่ในสภาพดี เช่น บุบตีให้เรียบ ถ้ามีสนิมก็จะทาสีตากแดดเพื่อให้กลิ่นสีจาง
ทว่า วันนี้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกทานขนมปังปี๊บกันให้มาก
เพราะจากการสุ่มตัวอย่างขนมปังปี๊บจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในท้องตลาด
ของสถาบันอาหาร เพื่อนำมาวิเคราะห์สารตะกั่วปนเปื้อน พบว่ามีขนมปังปี๊บถึง 3 ตัวอย่าง
ที่พบมีสารตะกั่วปนเปื้อน แม้ว่าปริมาณที่พบยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทย
แต่เราควรระมัดระวัง เพราะหากร่างกายได้รับสารตะกั่วจากอาหารบ่อยๆ แม้ในปริมาณน้อย
เป็นระยะเวลายาวนาน ตะกั่วจะเข้าไปสะสมในร่างกายจนทำให้เกิดพิษเรื้อรังจากตะกั่วได้
โดยเมื่อตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตไปจับกับเม็ดเลือดแดงแทนที่เหล็ก
ซึ่งเป็นโลหะที่จําเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดงทําให้เกิดอาการโลหิตจางและ
มีผลทำให้ปริมาณเหล็กในน้ำเหลืองเพิ่มขึ้นผิดปกติ ตะกั่วบางส่วนจะไปสะสมในกระดูกและ
จะเข้าไปแทนที่แคลเซียมทําให้มีอาการปวดตามข้อ กระดูกผุ และหักง่าย ถ้าไปสะสมที่รากฟัน
ทําให้เห็นสีม่วงหรือสีดําบริเวณเหงือก และจะทําให้ฟันหลุดได้ง่าย
เห็นอย่างนี้แล้ว เด็กๆ ที่ชื่นชอบขนมปังปี๊บก็เพลาๆ กันลงบ้าง ทานกันได้แต่อย่าทานบ่อยๆ ติดต่อกัน
เป็นเวลานานๆ เพื่อความปลอดภัยของร่างกายเรา ///
ผลวิเคราะห์ตะกั่วในขนมปังปี๊บ
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณตะกั่ว (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
สติ๊กช็อกโกแลต บรรจุในปี๊บ ยี่ห้อ 1 |
0.04 |
ขนมขาไก่ต้นตำรับ บรรจุในปี๊บ ยี่ห้อ 2 |
ไม่พบ |
หมีช็อกโก้ บรรจุในปี๊บ ยี่ห้อ 3 |
ไม่พบ |
แครกเกอร์เค็ม บรรจุในปี๊บ ยี่ห้อ 4 |
0.04 |
ขนมปังกรอบครีมขาว บรรจุในปี๊บ ยี่ห้อ 5 |
0.029 |
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety