เชื้อก่อโรคในส้มตำกุ้งสด
ไทยแลนด์ยุค 4.0 การสืบค้นข้อมูลติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การรีวิวสินค้ากลายเป็นเรื่องสำคัญ อยากขายสิ่งใดต้องทดลองให้เห้น และถ้าเป็นอาหารก็ต้องไลฟ์กันสดๆ และลองกินเพื่อกระตุ้นให้คนดูอยากกินตาม
ส้มตำนานาชนิด โดยเฉพาะตำปูสด กุ้งสด เป็นอีกเมนูที่มีการรีวิวให้เห็นอยู่บ่อยๆ ชวนให้น้ำลายสอ คนที่เคยกินร่างกายอาจมีภูมิต้านทานอยู่บ้าง แต่คนที่ไม่เคยกินส่วนใหญมักเกิดอาการท้องเสีย
สาเหตุหลักๆมาจากการใช้วัตถุดิบที่นำมาปรุงไม่สะอาด หรือพ่อค้าแม่ขายไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล การเก็บวัตถุดิบไม่สะอาดและดีพอจนทำให้เชื้อก่อโรคอย่าง วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ที่พบได้ตามธรรมชาติ โดยเฉพะตามชายฝั่ง ในน้ำทะเล และบริเวณปากอ่าวแม่น้ำ ปนเปิ้อนในกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เรานำมาปรุงอาหารได้ง่าย
เชื้อชนิดนี้หากเข้าสู่ร่างกายจากการกินกุ้ง หอย ปู ปลาดิบ หรือปรุงไม่สุก จากการวางอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้ใกล้กับอาหารดิบ หรือใช้เขียงหั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน
ส่งผลทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ กระเพาะอาหารและลําไส้อักเสบ ท้องเสีย เป็นตะคริวในช่องท้อง คลื่นเหียน วิงเวียน อาเจียน ปวดหัว มีไข้และหนาวสั่น
เพื่อให้เห็นกันชัดๆ ว่ากุ้งดิบที่เรานำมาปรุงส้มตำมีเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ปนเปื้อนหรือไม่
สถาบันอาหาร จึงทำการสุ่มตัวอย่างส้มตำกุ้งสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์ ผลวิเคราะห์ปรากฏว่า พบเชื้อปนเปื้อนในส้มตำกุ้งสด 2 ตัวอย่าง
ทั้งนี้ เกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้ต้องไม่พบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนในอาหารเลย (อาหารดิบที่เตรียมหรือปรุงในสภาพกินได้ทันที)
ฉะนั้นท่านที่ชอบเปิบตำกุ้งสด เมนูอาหารทะเลดิบๆ ควรเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจ ไว้ใจได้ว่าสะอาด แต่จะให้ชัวร์ควรทานเมนูที่ปรุงสุกแล้วปลอดภัยและสบายท้องกว่า.
ผลวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ในส้มตำกุ้งสด
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (พบ, ไม่พบ/ 25 กรัม) |
ส้มตำกุ้งสด ร้าน 1 ย่านสามเสน |
ไม่พบ |
ส้มตำกุ้งสด ร้าน 2 ย่านศิริราช |
พบ |
ส้มตำกุ้งสด ร้าน 3 ย่านสวนจิตรลดา |
พบ |
ส้มตำกุ้งสด ร้าน 4 ย่านวังหลัง |
พบ |
ส้มตำกุ้งสด ร้าน 5 ย่านคลองสาน |
ไม่พ |
วันที่วิเคราะห์ 12-20 ก.พ. 2562 วิธีวิเคราะห์ ISO/TS 21872-1 : 2017
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร
กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/