ดีเดย์! ต้นปี 2562 อวสานไขมันทรานส์
เดือนมกราคม 2562 นอกจากจะเป็นเดือนแรกของศักราชใหม่แล้ว
ยังเป็นเดือนแรกที่มีผลบังคับใช้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561
เรื่องกำหนดอาหาที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ที่กำหนดให้ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ
นั่นหมายถึงว่าตั้งแต่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ต้องไม่พบ อาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ
เช่น ครีมเทียม เนยเทียมหรือมาร์การีน เนยขาว ขนมอบ ขนมทอด พาย พัฟ เวเฟอร์ เบเกอรี่
และอาหารทอดที่ทอดโดยใช้น้้ามันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนทอดแบบน้้ามันท่วม
ใช้อุณหภูมิสูง เพื่อให้อาหารกรอบนอก นุ่มใน มีสีเหลืองน่าทาน เช่น โดนัททอด
วางขายอยู่ในท้องตลาด
ผู้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารทุกราย ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก
ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีตัวอันตรายแฝงอยู่ด้วยได้
ตัวอันตรายที่ว่า ได้แก่ ไขมันทรานส์ (Trans Fat) ที่เกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม
คือ การเติมสารไฮโดรเจนบางส่วนลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้น หรือกึ่งเหลว หืนช้า และมีอายุการเก็บนานขึ้น
แม้ไขมันทรานส์จะให้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม แต่หากได้รับไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ
มันจะส่งผลร้ายอย่างเงียบๆ คือ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวมไขมันชนิดเลว (LDL-Cholesterol)
และไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีผลทำให้ระดับไขมันชนิดดี (HDL -Cholesterol) ลดลง
เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด
โดย FAO แนะนำว่าปริมาณสูงสุดในการได้รับไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหาร คือ
ไม่ควรเกิน 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค
แม้ภาครัฐจะเข้มงวดในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทยเราขนาดนี้
ก็อย่าชะล่าใจ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกายด้วยตัวเราเองด้วย
โดยก่อนเลือกซื้ออาหาร ควรสังเกตุและอ่านข้อความบนฉลาก ในกรอบข้อมูลโภชนาการให้ดีเสียก่อน
แล้วเลือกซื้ออาหารที่บนฉลากระบุว่าไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรือในกรอบข้อมูลโภชนาการ ระบุว่ามีปริมาณไขมันทรานส์เป็น 0 กรัม
เพื่อความปลอดภัยของหลอดเลือดและหัวใจเรา ///
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety