เชื้อก่อโรคกับผักสลัดสดนำเข้า
หลายปีมานี้อาหารสุขภาพเป็นเรื่องที่เราพูดถึงกันมาก ทั้งแบบที่เราซื้อมาปรุงทานเอง เช่น
ผักผลไม้สดนานาชนิดและแบบสำเร็จรูปที่คนใกล้ชิดแนะนำ บอกต่อๆ กันมาถึงคุณประโยชน์
ที่ส่งผลดีต่อร่างกาย ผักสลัดเป็นอาหารสุขภาพที่ผู้ต้องการควบคุมน้ำหนักเลือกทานกับน้ำสลัดหลากรสชาติ
หรือบางท่านอาจชอบทานคู่กับอาหารเมนูต่างๆ เพื่อให้มีระบบขับถ่ายดี
ทุกวันนี้ใครๆ ก็ปลูกผักสลัดได้ มีแบบสำเร็จรูปให้ซื้อหาได้ทั่วไป ชอบพันธุ์ไหนก็ซื้อมาปลูก
ปลูกเสร็จโตได้ที่ ก็ตัดมาทานกันสดๆ หากเป็นการผลิตเพื่อขายเมื่อโตเต็มที่ก็ตัด
นำมาล้างทำความสะอาด บรรจุลงถุงพลาสติก จัดเก็บและส่งจำหน่าย
แม้ผักสลัดจะเป็นอาหารสุขภาพ แต่หากล้างทำความสะอาดไม่ดีเพียงพอ
อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคจากเชื้อก่อโรคปนเปื้อนได้ เช่นเชื้อ ซาลโมเนลลา
เชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนมากับสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ หรือปนเปื้อนมาจากพนักงานที่มีสุขลักษณะส่วนบุคคลไม่ดีเช่น
ไว้เล็บยาว หลังจากเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือให้สะอาด
หรือปนเปื้อนมาจากอุปกรณ์และภาชนะที่มีการล้างทำความสะอาดไม่ดีเพียงพอ
แล้วนำมาใช้สัมผัสผักสลัด จะทำให้เชื้อ ซาลโมเนลลา มีโอกาสปนเปื้อนในผักสลัดได้
เชื้อชนิดนี้ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศรีษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างตามชนิด ปริมาณเชื้อที่ได้รับ และความต้านทานของแต่ละคน
เชื้อนี้มีอัตราการแพร่ระบาดสูง จึงพบผู้ป่วยที่เป็นโรคจากเชื้อนี้ในอัตราสูงด้วย
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างผักสลัดสดนำเข้า จำนวน 5 ตัวอย่าง จากซูเปอร์มาเก็ตและห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพฯ
เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน ผลการวิเคราะห์พบว่าผักสลัดนำเข้าทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อปนเปื้อนเลย
บรรดาคอสลัดทั้งหลาย สบายใจกันได้ ///
ผลวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ในผักสลัดนำเข้า
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
เชื้อ ซาลโมเนลลา /25 กรัม |
ผักสลัดสดยี่ห้อ 1 จากสหรัฐฯ |
ไม่พบ |
ผักสลัดสดยี่ห้อ 2 จากนิวซีแลนด์ |
ไม่พบ |
ผักสลัดสดยี่ห้อ 3 จากออสเตรเลีย |
ไม่พบ |
ผักสลัดสดยี่ห้อ 4 จากออสเตรเลีย |
ไม่พบ |
ผักสลัดสดยี่ห้อ 5 จากออสเตรเลีย |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 15-21 ส.ค. 2560 วิธีวิเคราะห์ ISO 6579:2002/Cor.1:2004
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 024 228 688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/