กินกล้วยตอนท้องว่าง ไม่อันตราย !!!
หลายท่านอาจเคยได้รับข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย และทางไลน์ว่า
กินกล้วยตอนท้องว่างแล้วอันตราย บางคนอาจเชื่อ แต่หลายคนยังสงสัยว่า จริงหรือไม่
วันนี้คอลัมน์ “มันมากับอาหาร” ขอนำเสนอข้อเท็จจริงให้คลายความสงสัย
กล้วยแหล่งอาหารที่ให้พลังงาน มีน้ำตาลจากธรรมชาติถึง 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส
ที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย แถมอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุนานาชนิด เช่น
กล้วยน้ำว้า มีธาตุเหล็กช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง แคลเซียม ฟอสฟอรัส
และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูกและเหงือก ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี มีธาตุโพแทสเซียมสูงแต่มีปริมาณเกลือต่ำ
จึงช่วยรักษาระดับความดันโลหิต และช่วยลดอันตรายจากการเกิดโรคเส้นเลือดฝอยแตก
กล้วยยังมีโปรตีนชนิดเทปโตแพน (trytophan) ที่เมื่อทานเข้าไปร่างกาย
จะเปลี่ยนเป็นสารซีโรโตนิน (serotonin) ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี
และมีวิตามินบี 6 ที่ช่วยควบคุมอารมณ์ และช่วยให้ระบบประสาทดีขึ้น
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคุณประโยชน์ที่ได้จากการทานกล้วยสุก เพราะหากเราทานกล้วยดิบ
กล้วยห่าม และงอม ก็จะได้รับประโยชน์ต่อร่างกายไปอีกแบบ
จากข้อมูลที่ว่ากินกล้วยตอนท้องว่างแล้วอันตราย เพราะกล้วยมีแมกนีเซียมสูงเมื่อกินเข้าไปแล้ว
จะไปเพิ่มระดับแมกนีเซียมในเลือด เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ
หรือเพราะกล้วยมีโปแตสเซียมสูงเมื่อกินเข้าไปจะไปมีผลต่อหัวใจนั้น ขอบอกว่าไม่ควรเชื่อ
เพราะกล้วยที่คนไทยนิยมกินทั่วๆไป ทั้งกล้วยไข่ กล้วยงาช้าง กล้วยนมสาว กล้วยนางพญา กล้วยน้ำ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม
และกล้วยหักมุกนวลนั้น ใน 1 ลูก (น้ำหนักประมาณ 100 กรัม)
มีปริมาณแมกนีเซียมไม่เกิน 43 มิลลิกรัม ขณะที่ปริมาณแมกนีเซียมสูงสุดที่ร่างกายได้รับไม่ควรเกิน 700 มิลลิกรัมต่อวัน
ฉะนั้นจะต้องกินกล้วยมากกว่า 16 ลูก จึงจะได้รับแมกนีเซียมในปริมาณเกินกว่า
ปริมาณที่ร่างกายรับได้ต่อวัน และอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย
และในกล้วย 1 ลูก มีปริมาณโปแตสเซียมไม่เกิน 397 มิลลิกรัม ทว่าไตของเราสามารถขับ
เกลือแร่ รวมถึงโปแตสเซียมส่วนเกินต่างๆ ได้มากถึง 30,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ฉะนั้นการกินกล้วย ซึ่งมีโปแตสเซียมสูง จะไม่ทำให้ได้รับโปแตสเซียมสูงเกินไปจนร่างกายไม่สามารถขับออกได้ทัน
และส่งผลเสียต่อหัวใจตามข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันมา
ที่สำคัญคนปกติทั่วไป คงไม่มีใครกินกล้วยเกิน 16 ลูกหรือ 1 หวี ต่อวัน ติดต่อกันหลายวันแน่นอน
จะเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงทางวิชาการที่นำเสนอทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องท้องว่างเลย
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/