ลอดช่องน้ำกะทิกับเชื้อก่อโรค
หากกล่าวถึงขนมไทยโบราณ 4 ชนิดที่น้อยคนจะคุ้นชื่อ ได้แก่ ไข่กบ หรือเม็ดแมงลัก
นกปล่อย หรือลอดช่อง บัวลอยหรือข้าวตอก และอ้ายตื้อ หรือข้าวเหนียว
ขนมไทยทั้ง 4 ชนิด เป็นขนมที่แม่บ้านสมัยโบราณนำมาจัดเป็นสำรับไว้ทานหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ
แสดงถึงความเป็นอยู่ ประเพณี และวัฒนธรรมตามวิถีไทยที่ร้อยเรียงเรื่องราวจากสิ่งใกล้ตัว
จวบจนปัจจุบันน้อยคนนักที่จะรู้ชื่อโบราณ รู้จักกันเพียงแค่ชื่อสมัยใหม่เท่านั้น
ลอดช่อง เป็นหนึ่งในขนมไทยโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า โดยนำข้าวเจ้าไปแช่น้ำไว้ 1 คืน
ก่อนนำมาโม่จนเป็นแป้งน้ำกรองด้วยผ้าข้าวบางจนได้น้ำแป้งสำหรับลอดช่องผสมกับน้ำใบเตย น้ำปูนใส
และส่วนผสมอื่น นวดให้แป้งคงตัวนำไปตั้งไฟค่อยๆ กวนจนแป้งเหนียว ข้นและสุก
นำมากดบนพิมพ์เป็นเส้นในน้ำเย็นรอเส้นลอยก็ตักขึ้น ทานพร้อมน้ำกะทิจากน้ำตาลมะพร้าว และน้ำแข็ง
เป็นของหวานทานแก้ร้อนได้ดี ทว่าหากเลือกทานแบบไม่ระมัด ระวังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เพราะลอดช่องที่เราซื้อมาทานนั้น อาจมีเชื้อก่อโรค เช่น บาซิลลัส ซีเรียส ปนเปื้อนได้
เชื้อชนิดนี้พบทั่วไปในธรรมชาติทั้งดิน น้ำ อากาศ ฝุ่นละออง หากกระบวนการผลิตลอดช่องไม่สะอาดและผู้ผลิตไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ โอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนก็สูง
เชื้อชนิดนี้มักพบปนเปื้อนในอาหารที่ทำจากข้าว ธัญพืชและแป้ง
ถ้าเราทานอาหารที่มีเชื้อ บาซิลลัส ซีเรียส ปนเปื้อนเข้าไปจะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการอาเจียน และท้องร่วง ตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง เกณฑ์คุณภาพ ทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 กำหนดให้พบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนในขนมหวานหรือขนมไทย ได้ไม่เกิน 100 ซีเอฟยู/กรัม
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างลอดช่องน้ำกะทิจากร้านค้าและยี่ห้อต่างๆ จำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อ บาซิลลัส ซีเรียส ปรากฎว่าทุกตัวอย่างพบการปนเปื้อน และมี 1 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนเกินเกณฑ์คุณภาพที่กำหนด
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด และทำสดใหม่ เพื่อความปลอดภัยจะดีกว่า
ผลวิเคราะห์เชื้อ บาซิลลัส ซีเรียส ในลอดช่องน้ำกะทิ
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
บาซิลลัส ซีเรียส (ซีเอฟยู/ กรัม) |
ขนมลอดช่อง ร้าน 1 ย่านนนทบุรี |
200 |
ขนมลอดช่อง ร้าน 2 ย่านบางขุนศรี |
น้อยกว่า 10 |
ขนมลอดช่อง ร้าน 3 ย่านสำโรง |
20 |
ขนมลอดช่อง ยี่ห้อ 1 |
น้อยกว่า 10 |
ขนมลอดช่อง ยี่ห้อ 2 |
น้อยกว่า 10 |
วันที่วิเคราะห์ 6-23 พ.ย. 2560 วิธีวิเคราะห์ FDA-BAM Online, 2012 (Chapter 14)
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/