โซเดียมกับขนมขบเคี้ยว
ปิดภาคเรียนเป็นช่วงที่เด็กๆ ชื่นชอบเพราะจะได้พักผ่อนอยู่บ้านทำกิจกรรม หลังคร่ำเคร่งกับเรียน ติว และการสอบมาเป็นแรมปี
เมื่ออยู่บ้านเด็กๆ ขนมขบเคี้ยวนับเป็นหนึ่งในของกินเล่นที่กินได้อย่างต่อเนื่อง และอย่างน้อยต้องมีถึง 2 ห่อ โดยที่หารู้ไม่ว่าขนมขบเคี้ยวที่กินเข้าไปนั้นคืออันตรายที่เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที
แม้ในขนมขบเคี้ยวจะมี "โซเดียม" ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วันแต่ต้องได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือ 1 ช้อนชา ซึ่งเป็นปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งสารดังกล่าวจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก
หากปริมาณโซเดียมที่รับเข้าสู่ร่างกายมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป และได้รับเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และสุดท้ายมีผลทำให้ไตวายได้
สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างขนมขบเคี้ยวจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ยี่ห้อ ที่วางจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียม ผลปรากฏว่าพบโซเดียมทุกตัวอย่างในปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ตั้งแต่ปริมาณ 119-355 มิลลิกรัมต่อขนม 1 ซอง
ฉะนั้นก่อนเลือกขนมขบเคี้ยวให้ลูกหลาน อันดับแรกขอแนะนำให้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองและเด็กๆที่ชื่นชอบขนมขบเคี้ยว ก่อนซื้อควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลาก GDA บนซองขนม และเลือซื้อชนิดที่มีโซเดียมต่ำ และหากเป็นขนมซองสุดโปรด และมีโซเดียมสูง ก็ให้แบ่งทาน หรือไม่ควรซื้อท่านบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น
เพราะอย่าลืมว่า...ในแต่ละวันร่างกายเรายังได้รับโซเดียมจากอาหารอื่นๆด้วย แต่ถ้าจะให้ห่างจากโรคภัยต่างๆ เมนูที่ดีสุดคือหันมากินผลไม้ ธัญพืชที่เป็นประโยชน์แทนจะดีกว่า เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีทั้งในวันนี้และวันหน้า
ผลวิเคราะห์ โซเดียมในขนมขบเคี้ยว
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
โซเดียม (มิลลิกรัม/ 100 กรัม) |
โซเดียม (มิลลิกรัม/ ขนม 1 ซอง) |
มันฝรั่งแท้ทอดกรอบชนิดแผ่นเรียบ ยี่ห้อ 1 (รสสาหร่ายซอสสไตล์เกาหลี) |
473.78 |
355 (1 ซองหนัก 75 กรัม) |
ข้าวโพดกรอบ ยี่ห้อ 2 |
557.08 |
156 (1 ซองหนัก 28 กรัม) |
ข้าวเกรียบกุ้ง ยี่ห้อ 3 |
794.07 |
119 (1 ซองหนัก 15 กรัม) |
ขนมอบกรอบ รสปลาหมึก ยี่ห้อ 4 |
988.07 |
296 (1 ซองหนัก 30 กรัม) |
ข้าวเกรียบกุ้ง รสดั้งเดิม ยี่ห้อ 5 |
834.46 |
250 (1 ซองหนัก 30 กรัม) |
วันที่วิเคราะห์ 7-16 ม.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9152 based on AOAC(2016) 984.27
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688
หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/