สารกันบูดกับน้ำจิ้มซีฟู้ดส์สำเร็จรูป
ซีฟู้ดอาหารทะเลลวก ปิ้ง ย่าง เมนูที่คนไทยมักขาดไม่ได้ในงานเลี้ยงฉลอง สังสรรค์ หรือวันพักผ่อนของครอบครัวตามชายหาด ริมทะเล หรือแม้กระทั่งบ้านพักตากอากาศบนภูเขา
เมนูแสนอร่อยนี้กร่อยทันทีหากขาดน้ำจิ้มซีฟู้ดแซ่บๆบางครอบครัวแม่บ้านรสมือจัดจ้านก็จะปรุงน้ำจิ้มซีฟู้ดด้วยตัวเอง บางบ้านเน้นความสะดวกไม่ยุ่งยากซื้อหาวัตถุดิบและเสียเวลาปรุงเอง จะพึ่งน้ำจิ้มซีฟู้ดสำเร็จรูป ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกซื้อหามากมายหลายยี่ห้อ แล้วแต่ว่ามีรสนิยมชอบรสชาติแบบไหน
ทว่าสิ่งสำคัญที่ มันมากับอาหาร ขอเตือนผู้ที่ชื่นชอบสะดวกด่วนน้ำจิ้มซีฟู้ดสำเร็จรูป อาจมีสารกัยบูด ซึ่งใช้กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกที่ผู้ผลิตใส่เข้าไปในระหว่างการผลิต เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถเก็บรักษาน้ำจิ้มซีฟู้ดไว้ขายได้นานๆเป็นของแถม
แม้ตามกฎหมายอนุญาตให้ใช้สารกันบูดทั้ง 2 ชนิดเติมลงในอาหารได้แต่ต้องปริมาณที่กำหนด เพราะหากร่างกายได้รับสารกันบูดปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย วิงเวียน ปวดศรีษะ และอาจมีผลต่อการเพิ่มอาการสมาธิสั้นในเด็กได้
สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างน้ำจิ้มซีฟู้ดสำเร็จรูปบรรจุขวดแก้วจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูด 2 ชนิด
ผลปราฏว่า พบกรดเบนโซอิกในน้ำจิ้มซีฟู้ดส์สำเร็จรูปทั้ง 5 ตัวอย่าง และพบกรดซอร์บิก 1 ตัวอย่าง แต่ปริมาณที่พบยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทย ฉบับที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกในซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกันได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ใครไม่อยากได้สารกันบูดเป็นของแถม ปรุงทานเองจะดีกว่า นอกจากจะได้ของสดใหม่แล้วยังปลอดภัยสบายท้องอีกด้วย
ผลวิเคราะห์สารกันบูดในน้ำจิ้มซีฟู้ดส์สำเร็จรูป
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณสารกันบูด (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
|
กรดเบนโซอิก |
กรดซอร์บิก |
|
น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ ยี่ห้อ 1 |
590.36 |
ไม่พบ |
น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ ยี่ห้อ 2 |
670.96 |
ไม่พบ |
น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ ยี่ห้อ 3 |
613.38 |
ไม่พบ |
น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ ยี่ห้อ 4 |
515.07 |
ไม่พบ |
น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ ยี่ห้อ 5 |
361.27 |
304.02 |
วันที่วิเคราะห์ 25 ก.พ.- 3 มี.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9124 based on ISO 22855:2008
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/