อาหารกับวันผู้สูงอายุไทย
วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากเป็นวันมหาสงกรานต์ รัฐบาลไทยยังกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกหลานชาวไทยได้เห็นความสำคัญ แสดงความรัก ความกตัญญูแก่บุพการี ญาติผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ผู้อาวุโสในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม
วันนี้ประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และนับวันจะมีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ ปี พ.ศ.2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 และปี พ.ศ.2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดคือ มีคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 30
นั่นหมายถึงว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนคนไทยทั้งประเทศ
ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ประสบปัญหาสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสรีระ จิตใจ และอารมณ์ มักเป็นโรคยอดฮิต เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง หัวใจขาดเลือด เกาต์ และไต ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสการรักษาต้องทานยาหรือผ่าตัด และสามารถควบคุมได้ด้วยอาหาร
หากผู้สูงอายุเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด และปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยบรรเทาอาการของโรคไม่ให้รุนแรงมากกว่าเดิม หรือไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆได้ โดยอาหารที่ผู้สูงอายุไม่ควรทานมีไม่กี่ชนิด
อันดับแรก อาหารที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หมูย่างติดมัน หนังไก่ อันดับสอง อาหารที่มีรสจัด มันจัด หวานจัดและเค็มจัด โดยเฉพาะรสเค็มถึงเค็มจัดจะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง ส่วนอาหารรสหวานจัดจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน อันดับสาม หลีกเลี่ยงอาหารทอดและผัดที่ใช้น้ำมันมาก และทานแป้งพอประมาณ
และสุดท้าย อาหารต้องเหมาะสมต่อการตัก เคี้ยวและกลืน เพราะผู้สูงอายุสำลักได้ง่าย อาหารต้องชิ้นไม่ใหญ่ ไม่แข็งเกินไป ไม่เหนียว เคี้ยวง่าย และไม่มีส่วนที่เป็นอันตราย เช่น ก้าง กระดูก
สงกรานต์ปีนี้ คอลัมน์มันมากับอาหาร ขอเชิญชวนลูกหลานชาวไทย ร่วมดูแลผู้สูงวัยในบ้าน ให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและทานอาหารอย่างปลอดภัยด้วยวิธีง่ายๆ โดยให้ท่านทานอาหารตามธรรมชาติ ปรุงแต่งน้อย เน้นผักผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง ให้ทานเนื้อปลาสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
ทานไข่ได้วันละฟอง ทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว เน้นอาหารที่ปรุงแบบต้ม ย่าง ยำ ตุ๋น หรือนึ่ง ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ที่สำคัญให้เคลื่อนไหว ออกแรง ออกกำลังกาย ให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
เพียงเท่านี้ผู้สูงอายุในสังคมไทยก็มีชีวิตอยู่กับลูกหลานได้อย่างสุขใจ และปลอดภัยจากโรค
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 0-2422-8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย