สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคกับข้าวแช่

เชื้อก่อโรคกับข้าวแช่

          เดือนเมษายน เมืองไทยจะเริ่มเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ช่วงนี้หลายคนอยู่ไม่ติดบ้าน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดจะไปพักผ่อน เดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติเพื่อคลายร้อน ตระเวนสรรหาอาหารการกินที่เหมาะสำหรับหน้าร้อน

          ถ้ากล่าวถึงอาหารไทยช่วยดับร้อน “ข้าวแช่” เป็นเมนูอันดับต้นๆที่ คนไทยนึกถึง

          ข้าวแช่จะมีสูตรเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ส่วนผสมหลักๆคือข้าวสุกที่หุงให้ได้เม็ดร่วนๆ นำมาแช่ในน้ำอบในหม้อดิน เพื่อทำให้ข้าวได้ความเย็น จากน้ำในหม้อดิน เมื่อผนวกกับความหอมจากน้ำที่ปรุงมาจากการอบ ดอกมะลิ กระดังงา และควันเทียน ทำให้ข้าวแช่มีกลิ่นหอมเย็น ชื่นฉ่ำใจ ช่วยคลายร้อน

          ส่วนกับข้าวที่กินเคียงกับข้าวแช่ มีทั้งลูกกะปิทอด พริกหยวกสอดไส้หมูสับ ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้งผัดหวาน หมูสับกับปลากุเลา และผักสด

          ด้วยกรรมวิธีการปรุงที่ซับซ้อน ต้องใช้มือหยิบจับขณะเตรียมกับข้าวที่ใช้ทานเคียงข้าวแช่เป็นหลัก หากผู้ปรุงไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล ความสะอาด ของสถานที่ปรุง ภาชนะที่ใช้ปรุงให้ดีเพียงพอ อากาศร้อนๆแบบนี้อาจทำให้ข้าวแช่สุ่มเสี่ยงปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อซาลโมเนลลา

          โดยเชื้อชนิดนี้เมื่อปนเปื้อนกับอาหารจะส่งผลทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ เริ่มต้นด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย

          ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปตามปริมาณเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และความต้านทานของแต่ละคน

          สถาบันอาหารได้ทำการสุ่มตัวอย่างข้าวแช่จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน

          ผลที่ได้ปรากฏว่าข้าวแช่ทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนเลย หน้าร้อนปีนี้ ท่านที่ชื่นชอบเมนูข้าวแช่สามารถทานข้าวแช่ดับร้อนกันได้อย่างสบายใจ.

ผลวิเคราะห์ ซาลโมเนลลา ในข้าวแช่

 

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

ซาลโมเนลลา

(พบ/ ไม่พบ ใน 25 กรัม)

ข้าวแช่ ร้านที่ 1 ย่านวัดบวรนิเวศ์

ไม่พบ

ข้าวแช่ ร้านที่ 2 ย่านดินแดง

ไม่พบ

ข้าวแช่ ร้านที่ 3 ย่านบางลำพู

ไม่พบ

ข้าวแช่ ร้านที่ 4 ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย

ไม่พบ

ข้าวแช่ ร้านที่ 5 ย่านถนนพระสุเมรุ

ไม่พบ

 

วันที่วิเคราะห์ 22-28 มี.ค. 2562       วิธีวิเคราะห์ ISO 6579-1 : 2017

ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins