เชื้อก่อโรคกับ… หอยนางรมดิบ
หากกล่าวถึงอาหารบำรุงสุขภาพเพศชายหลายคนต้องนึกถึง “หอยนางรม” สดๆ
หอยนางรมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของคนไทยคือ หอยนางรมจากสุราษฎร์ เพราะมีขนาดใหญ่
และรสชาติดีกว่าหอยนางรมจากพื้นที่อื่น หอยนางรมแต่ละถิ่นจะมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ต่างกันไป
จากความแตกต่างของระดับความเค็มของน้ำทะเล อุณหภูมิและคุณภาพของน้ำแต่ละถิ่น
แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ คุณค่าทางอาหาร หอยนางรมเป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินเอ บี1 บี 2
แคลเซียม เหล็ก โพแทสเซียม และสังกะสีตัวการสำคัญที่สร้างฮอร์โมนเพศชายและผลิตอสุจิ
ทว่าสิ่งที่ต้องระวังคือ อันตรายจากเชื้อก่อโรคที่อาจปนเปื้อนในหอยนางรมดิบ
โดยเฉพาะเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ที่มักพบปนเปื้อนในน้ำทะเล และอาหารทะเลดิบ
หากร่างกายได้รับเชื้อชนิดนี้เข้าไปจะทําให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหารและลําไส้อักเสบ
ทำให้มีอาการท้องเสีย เป็นตะคริวในช่องท้อง คลื่นเหียน วิงเวียน อาเจียน ปวดหัว มีไข้และหนาวสั่น
รายที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างหอยนางรมดิบจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 สถานที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ
เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าว
ผลวิเคราะห์ปรากฎว่าพบเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ปนเปื้อนในหอยนางรมดิบถึง 4 ตัวอย่าง
ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดให้อาหารทะเลที่ทานดิบ
ต้องไม่พบเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ปนเปื้อน ในปริมาณ 25 กรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว
ท่านที่ชอบทานหอยนางรมดิบๆ คู่กับยอดกระถินสดและน้ำจิ้มรสเด็ด
หรือทานแกล้มเหล้าเบียร์ ขอแนะว่าควรหันมาทำให้สุก เช่น ต้ม ลวก นึ่งหรืออบก่อนทานจะดีกว่า
เพราะความร้อนจะทำลายเชื้อชนิดนี้ให้หมดไปได้ เพื่อความปลอดภัย และสบายท้อง ///
ผลวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ในหอยนางรมดิบ
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (พบ/ ไม่พบ ใน 25 กรัม ) |
หอยนางรมดิบ จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านพร้อมพงษ์ |
พบ |
หอยนางรมดิบ จากร้านค้า ย่านสามย่าน |
พบ |
หอยนางรมดิบ จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านสยาม |
พบ |
หอยนางรมดิบ จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านราชดำริ |
พบ |
หอยนางรมดิบ จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านจรัญสนิทวงศ์ |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 12-18 ม.ค. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9218 based on ISO/TS 21872-1:2007/Cor.1:2008
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/