สารกันบูดกับน้ำพริกหนุ่ม
ขณะที่ประเทศไทยกำลังถูกปกคลุมด้วยสภาพอากาศหนาวเย็น ทั่วทุกภาค
โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ
เทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาว ผู้คนต่างหลั่งไหลขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาวเย็น ชมทะเลหมอก
ดอกไม้สวยๆ ตักตวงความสุขให้สมกับที่รอคอย
หลังจากท่องเที่ยวแล้วขากลับก็ไม่ลืมแวะหาของฝากติดไม้ติดมือกลับมาตามนิสัยคนไทย
หากไปภาคเหนือสิ่งที่จะไม่ลืมซื้อกลับมาฝากคนที่บ้านเห็นจะเป็น 3 สหาย คือ
ไส้อั่ว แคปหมู น้ำพริกหนุ่ม อาหารทุกชนิดหากทำสดใหม่ผู้บริโภคอย่างเราก็จะได้รสชาติที่อร่อย
กลมกล่อม แต่ถ้าตามช่วงเทศกาลพ่อค้ามักทำเตรียมไว้ขายปริมาณมากๆ
อย่างน้ำพริกหนุ่มมักเตรียมใส่ถุงพลาสติกหรือขวดแบ่งบรรจุขนาดต่างๆ
และอาจผสมสารกันบูดลงไปเพื่อช่วยยืดอายุให้เก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก
สาร 2 ชนิดนี้ อนุญาตให้ใช้ในอาหารบางชนิดได้และใช้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น
หากใช้มากเกินไปอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ถ้าได้รับปริมาณมากๆ
จะทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ถ้าได้รับปริมาณน้อยแต่ระยะเวลายาวนาน
สารจะสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรัง
ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. 293/ 2547 กำหนดห้ามใช้สารกันบูดทุกชนิดในน้ำพริกหนุ่ม
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 4 ยี่ห้อและ 1 ร้านค้า
ที่วางขายในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาวิเคราะห์สารกันบูด 2 ชนิด คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก
ผลปรากฏว่าพบกรดเบนโซอิกใน 4 ตัวอย่าง แต่ไม่พบกรดซอร์บิกในทุกตัวอย่าง
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะให้เพิ่มความใส่ใจการเลือกซื้ออาหารเฉพาะที่มีบรรจุภัณฑ์ มีฉลากระบุผู้ผลิต สถานที่ผลิตชัดเจน ระบุส่วนผสมทุกชนิด
เลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จบรรจุถุงหรือกล่องที่ไม่ได้ขายหมดวันต่อวัน ที่สำคัญทานอาหารให้หลากหลายจะดีกว่า
ผลวิเคราะห์สารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณสารกันบูด (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
|
กรดเบนโซอิก |
กรดซอร์บิก |
|
น้ำพริกหนุ่ม บรรจุถุงพลาสติก ร้าน 1 |
5,155.76 |
ไม่พบ |
น้ำพริกหนุ่ม บรรจุขวดแก้ว ยี่ห้อ 1 |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
น้ำพริกหนุ่ม บรรจุขวดแก้ว ยี่ห้อ 2 |
1,003.15 |
ไม่พบ |
น้ำพริกหนุ่ม บรรจุถุงพลาสติกแบบซิป ยี่ห้อ 3 |
176.33 |
ไม่พบ |
น้ำพริกหนุ่ม บรรจุถุงพลาสติก ยี่ห้อ 4 |
922.12 |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 14-18 ธ.ค. 2560 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9124 based on ISO 22855: 2008
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/