สารตกค้างในทับทิมสด
สัปดาห์นี้เป็นอีกสัปดาห์ที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน นั่นคือ เทศกาลตรุษจีน
ที่มีประเพณีปฏิบัติหลายส่วนสำคัญทั้งการไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ
ลูกหลานจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ทั้งอาหารหวาน คาว รวมถึงผลไม้มงคล เช่น ส้ม สาลี่ แอปเปิ้ล
กล้วยหอม ทับทิม องุ่น และลูกพลับ อาหารที่เตรียมต้องเป็นอาหารที่มีสีสันสวยงาม สะอาด น่ารับประทาน
ผลไม้ที่เลือกต้องไม่มีตำหนิ ไร้รอยจุดดำ เมื่อเลือกด้วยการมองจากภายนอก
จะไม่มีทางรู้ได้ว่ามีสารตกค้าง เช่น สารกำจัดเชื้อรา ยาฆ่าแมลง ปะปนมาด้วยหรือไม่
สารที่ว่านี้อาจตกค้างด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของเกษตรกรในการระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมี
ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดเชื้อราฉีดพ่นในผลไม้ ทำให้มีข่าวคราวอันตรายของเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง
เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความปลอดภัยอาหาร
และเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกใช้สารเคมีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูก
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างทับทิมสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ
เพื่อวิเคราะห์หาสารกำจัดเชื้อราและยาฆ่าแมลงตกค้าง ผลที่ได้พบว่าทับทิมสด 5 ตัวอย่าง
พบยาฆ่าแมลงปนเปื้อนจำนวน 3 ตัวอย่าง และพบสารกำจัดเชื้อราปนเปื้อน 1 ตัวอย่าง
แต่ปริมาณที่พบมีค่าน้อยมาก แม้ว่าทับทิมยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการตกค้างของสารข้างต้น
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของผลไม้ชนิดอื่นๆ พบว่าปริมาณยาฆ่าแมลงและสารกำจัดเชื้อรา
ที่พบในทับทิมยังไม่เกินค่ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณะสุขไทย
ท่านที่ชอบทานผลไม้ ขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากสารเคมีง่ายๆ ว่า
ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำไหลผ่านหลายๆ ครั้ง หรือปลอกเปลือกทุกครั้งก่อนทานเพื่อความปลอดภัย
ผลวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดเชื้อราตกค้างในทับทิม
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ยาฆ่าแมลง (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
สารกำจัดเชื้อรา (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
ทับทิม ซุปเปอร์มาร์เก็ต 1 ย่านสุขุมวิท |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ทับทิม ซุปเปอร์มาร์เก็ต 2 ย่านสุขุมวิท |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ทับทิม ซุปเปอร์มาร์เก็ต 3 ย่านสยาม |
คลอไพริฟอสเอทิล น้อยกว่า 0.01 ไซเพอร์เมทริน น้อยกว่า 0.01 เฟนโพรพาทริน 0.04 |
อะซ็อกซีสโตรบิน 0.01 คาร์เบนดาซิม 0.05 |
ทับทิม ซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 ย่านสยาม |
แลมบ์ดา ไซฮาโลทริน น้อยกว่า 0.01 |
ไม่พบ |
ทับทิม ซุปเปอร์มาร์เก็ต 5 จรัญสนิทวงศ์ |
ไซเพอร์เมทริน น้อยกว่า 0.01 |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 15 ม.ค.- 2 ก.พ. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9223 based on Analytical Methods for Residual Compositional Substances, Japan, 2006.
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/