สารหนูอนินทรีย์ในสาหร่ายทะเลปรุงรส
สาหร่ายทะเลปรุงรส ปัจจุบันเป็นของกินเล่นที่พบเห็นและหาซื้อได้ง่าย
ด้วยคุณประโยชน์ของสาหร่ายที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไอโอดีนและใยอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
สาหร่ายทะเลเป็นพืชที่เติบโตในทะเล จึงมีโอกาสสูงที่จะพบโลหะหนักปนเปื้อน
และชนิดที่มักพบปนเปื้อนได้แก่ สารหนู แคดเมียม และปรอท
โลหะหนักปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม ดิน แหล่งน้ำ ทะเล จากการปล่อยของเสียของโรงงานอุตสาหกรรม
หรือ จากการใช้ปุ๋ย สารกําจัดแมลงและศัตรูพืช
หรือปนเปื้อนมาจากบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ และมีการถลุงแร่
เมื่อโรงงานปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตลงสู่แหล่งน้ำ โอกาสที่โลหะหนักจะปนเปื้อนไปสู่พืช
หรือสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นๆ จึงเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมาย
วันนี้ มันมากับอาหาร ขอนำเสนอเรื่องราวของสารหนูกับสาหร่ายอาหารทานเล่นยอดฮิตของไทยอีกครั้ง
สารหนูเป็นโลหะหนักอีกชนิดที่มักพบปนเปื้อนในสาหร่ายทะเล ขอย้ำว่าสารหนูมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
สารหนูอินทรีย์และสารหนูอนินทรีย์ ซึ่งสารหนูที่เป็นพิษต่อร่างกายคนเราคือ สารหนูอนินทรีย์
เมื่อร่างกายได้รับสารหนูอนินทรีย์จากอาหารบ่อยครั้ง และเป็นระยะเวลานานๆ
สารหนูจะไปสะสมในร่างกาย เมื่อสะสมปริมาณมากๆ จะส่งผลให้เกิดการทำลายระบบสมองและตับ
ผิวหนังเปลี่ยนสี ที่ (จุดสีน้ำตาลกระดำกระด่าง, จุดขาวๆ กระจัดกระจาย, ผิวดำ/เทา ตามฝ่ามือฝ่าเท้า)
มีผื่นที่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้า ระบบเส้นโลหิต ระบบประสาท ระบบเลือดมีปัญหา
สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างสาหร่ายทะเลปรุงรสพร้อมบริโภคจำนวน 5 ตัวอย่าง
จาก 5 ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารหนูอนินทรีย์
ผลที่ได้พบว่า สาหร่ายทะเลปรุงรสทุกตัวอย่าง ไม่พบสารหนูอนินทรีย์ปนเปื้อนเลย
วันนี้ เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบการทานสาหร่ายเป็นอาหารว่างพอจะสบายใจกันได้
แต่ขอแนะว่าอย่าทานให้บ่อยมากนัก ควรทานอาหารอื่นๆ ให้หลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้เพื่อร่างกายที่แข็งแรง และปลอดภัย///
ผลวิเคราะห์ สารหนูอนินทรีย์ ในสาหร่ายทะเลปรุงรส
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
สารหนูอนินทรีย์ (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
สาหร่ายทะเลปรุงรส รสเผ็ด ยี่ห้อ 1 |
ไม่พบ |
สาหร่ายทะเลทอดกรอบ รสออริจินัล ยี่ห้อ 2 |
ไม่พบ |
สาหร่ายทอดสไตล์ญี่ปุ่น รสเผ็ด ยี่ห้อ 3 |
ไม่พบ |
สาหร่ายอบกรอบแผ่นใหญ่ รสเข้มข้น ยี่ห้อ 4 |
ไม่พบ |
สาหร่ายปรุงรส ยี่ห้อ 5 |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 6 – 12 ธ.ค. 2560 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9216 based on Analyst, 1999, 124, 601-607
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/