สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุเรียนกวน

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุเรียนกวน

ฤดูร้อนเป็นฤดูที่มีช่วงเวลาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี

และเป็นช่วงที่ผลไม้ของไทยหลายชนิดให้ผลผลิตมากมาย เช่น มะม่วง เงาะ มังคุด และทุเรียน

ทุเรียนนั้นเป็นผลไม้ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างหลงใหลในสีเหลืองอร่าม รสชาติหวานละมุน

ทว่าเป็นผลไม้ที่ขายได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ หากเก็บไว้นานจะสุกจนงอมและเละ ไม่น่าทาน มีกลิ่นเหม็น

ชาวสวนจึงคิดค้นหาวิธีแปรรูปทุเรียนสดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บรักษาได้นานขึ้น เช่น ทุเรียนกวน

กรรมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากแค่นำเนื้อทุเรียนสดที่สุกจัด ไม่เน่าเสีย ไม่มีกลิ่นหมัก ไม่มีรสเปรี้ยว

มากวนด้วยความร้อนให้หนืดจนมีลักษณะข้นเหนียวได้ที่

หรืออาจนำเนื้อทุเรียนมาผสมกับน้ำตาลแล้วกวนให้เข้ากัน กวนจนแห้งไม่มีน้ำ ทิ้งให้เย็น

แล้วนำมาบรรจุลงถุงหรือกล่องพลาสติกเพื่อเก็บไว้ทานเองในครอบครัว หรือเตรียมไว้ขาย

ถ้าเป็นกรรมวิธีการทำแบบชาวบ้านสมัยก่อนคงไม่อันตรายเท่าไหร่ 

แต่ถ้าเป็นการผลิตเพื่อขายในปริมาณมากๆ  ผู้ผลิตก็อาจผสมวัตถุกันเสียลงไปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

และชะลอการเน่าเสีย เช่น สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ใส่ลงไปในปริมาณมากๆ

หรือเกินค่ามาตรฐานกำหนดอาจส่งผลให้คนที่ทานเป็นอันตรายได้

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร

อนุญาตให้ใส่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในขนมหวานที่มีผลไม้เป็นส่วนประกอบหลักได้ในปริมาณไม่เกิน

100 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม  ปกติเมื่อร่างกายได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอาหารปริมาณไม่มาก

มันจะถูกอ็อกซิไดซ์ไปเป็นซัลเฟตแล้วถูกขับออกทางปัสสาวะได้หมด แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะอ็อกซิไดซ์ไม่หมด มันจะไปลดประสิทธิภาพการใช้ไขมันและโปรตีนในร่างกาย

หากสะสมในร่างกายมากๆ อาจทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน หมดสติ ในผู้ป่วยโรคหืด

หากทานอาหารที่มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปจะเป็นสาเหตุให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

และหลอดลมตีบได้  วันนี้สถาบันอาหารสุ่มเก็บตัวอย่างทุเรียนกวนจำนวน 5 ตัวอย่าง

จาก 4 ยี่ห้อและ 1 ร้านค้าใน จ.ระยอง เพื่อนำมาวิเคราะห์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง

ผลวิเคราะห์พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุเรียนกวนทุกตัวอย่าง  และมีอยู่ 4 ตัวอย่างที่พบตกค้าง

เกินค่ามาตรฐานกำหนด เห็นอย่างนี้แล้วขอเตือนว่าทานได้แต่อย่าทานกันบ่อยนัก เพื่อความปลอดภัย///

ผลวิเคราะห์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุเรียนกวน

    

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

(มิลลิกรัม/ กิโลกรัม)

ทุเรียนกวน ยี่ห้อ 1

332.38

ทุเรียนกวน ร้านที่ 1 ย่านบ้านเพ จ.ระยอง

550.49

ทุเรียนกวน ยี่ห้อ 2

929.01

ทุเรียนกวน ยี่ห้อ 3

2.04

ทุเรียนกวน ยี่ห้อ 4

439.79

วันที่วิเคราะห์ 20 - 26 มี.ค. 2561    วิธีวิเคราะห์ Based on AOAC(2012), 990.28

 ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

 โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins