ไนไตรต์ใน “หมูยอ”
หมูยอ อาหารแปรรูปจากเนื้อหมูที่ขึ้นชื่อของภาคอีสาน มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ห่อด้วยใบตองหนาๆ
เพื่อให้มีกลิ่นหอมและช่วยเก็บรักษาได้นานๆ เพราะใบตองหนาๆ สามารถป้องกันสิ่งสกปรก
ไม่ให้เข้าไปปนเปื้อนในหมูยอได้ ผู้ผลิตบางรายอาจมีการเติมสารกันเสียลงไป
เพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อที่ทำให้อาหารเน่าเสียและเชื้อก่อโรค
ทำให้สามารถเก็บรักษาหมูยอไว้ขายหน้าร้านได้นานๆ หรือส่งไปขายในพื้นที่ไกลๆ ได้
สารกันเสียที่นิยมใช้ในอาหารแปรรูปจากเนื้อหมู เช่น โพแทสเซียมไนไตรต์ และโซเดียมไนไตรต์
สารกันเสียข้างต้นกฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 กำหนดให้ใช้โพแทสเซียมไนไตรต์
และโซเดียมไนไตรต์ ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เพราะหากร่างกายได้รับสารไนไตรต์มากเกินไปจะเป็นอันตรายได้
เมื่อร่างกายได้รับสารไนไตรต์จากอาหาร สารตัวนี้จะทําให้ฮีโมโกลบินผิดปกติ
ไม่สามารถนําออกซิเจนไปใช้ได้ ทำให้เซลล์ขาดออกซิเจน เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้
หายใจไม่ออก ตัวเขียว หัวใจเต้นเร็ว เป็นลมและหมดสติ
และหากได้รับไนไตรต์ปริมาณน้อยๆ เป็นเวลานานจะเกิดพิษเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
เพราะไนไตรต์จะทำปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในเนื้อสัตว์ร่วมกับสภาวะความเป็นกรด
ในกระเพาะอาหารทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่ชื่อไนโตรซามีน
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมูยอจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ยี่ห้อที่ผลิตในประเทศไทย
เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณไนไตรต์ ผลวิเคราะห์ปรากฎว่าไม่พบไนไตรต์ในหมูยอทุกตัวอย่าง
วันนี้คนไทยทานหมูยอกันได้อย่างสบายใจ แต่ขอแนะให้ทานอาหารให้หลากหลาย
ไม่ทานอาหารซ้ำๆ กันทุกวันเพราะความชอบ เพื่อความปลอดภัยและมีร่างกายที่แข็งแรง
ผลวิเคราะห์ไนไตรต์ใน “หมูยอ”
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณไนไตรต์ (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
หมูยอ ยี่ห้อ 1 |
ไม่พบ |
หมูยอ ยี่ห้อ 2 |
ไม่พบ |
หมูยอ ยี่ห้อ 3 |
ไม่พบ |
หมูยอ ยี่ห้อ 4 |
ไม่พบ |
หมูยอ ยี่ห้อ 5 |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 22-28 มี.ค. 2561 วิธีวิเคราะห์ Based on AOAC, Vol.83, No.2, 2000, Page 365-375
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/