ยาฆ่าแมลงตกค้างในตำลึง
ตำลึง ผักพื้นบ้านที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เลื้อยตามรั้วบ้านหรือพุ่มไม้อื่นๆในทุกฤดูกาล
คนไทยนิยมนำใบอ่อนและยอดตำลึง มาประกอบอาหารเป็นแกงจืดตำลึงหมูสับ แกงเลียง
ใส่ในต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหรือลวกทานกับน้ำพริกปลาทู
ตำลึงเป็นผักที่มีสีเขียวเข้ม จึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีเบต้าแคโรทีนสูงเป็นแหล่งของวิตามินเอที่ดี
ช่วยในเรื่องของภูมิต้านทานและเรื่องของการมองเห็น
ตำลึงยังเป็นแหล่งของสารฟลาโวนอยด์ที่ดี ช่วยป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวานและมะเร็ง
อีกทั้งมีแคลเซียมค่อนข้างสูง ร่างกายสามารถดูดซึมเอาไปใช้เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
เหมาะกับเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องการแคลเซียมมากกว่าวัยอื่นๆ ทว่ายุคนี้ผักตำลึงริมรั้ว
ที่ขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นเริ่มหายาก เกษตรกรมีการปลูกตำลึงและเก็บยอดเพื่อการค้ามากขึ้น
เกษตรกรบางรายอาจใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืช ป้องกันสัตว์ที่จะมาทำลายผลผลิต
แน่นอนว่าสารพิษดังกล่าวอาจตกค้างอยู่ในตำลึงที่เราซื้อหามาทานได้
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างตำลึงสดในท้องตลาดจำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ
เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้าง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ออร์กาโนคลอรีน
คาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ จำนวนรวม 58 ชนิด ผลปรากฎว่า
พบสารไดแอซินอนและเมโทมิลในตำลึงชนิดละ 1 ตัวอย่าง และพบสารไซเพอร์เมทรินในตำลึงทั้ง 5 ตัวอย่าง
ส่วนสารในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนไม่พบตกค้างในตำลึงทุกตัวอย่าง
เมโทมิล เป็นสารในกลุ่มคาร์บาเมต หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร
มีผลต่อระบบประสาท ทำให้สั่น กระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ
ไซเพอร์เมทริน เป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ
เมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน รายที่มีอาการรุนแรงอาจชักและหมดสติได้
ส่วนไดแอซินอน เป็นสารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ปวดศีรษะ
ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อึดอัดแน่นหน้าอก น้ำตาและน้ำลายไหลออกมาก
เพื่อความมั่นใจ ขอแนะว่าก่อนนำตำลึงที่ซื้อจากตลาดมาประกอบอาหาร ควรล้างด้วยน้ำที่สะอาดก่อน 1 ครั้ง
แล้วนำมาแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต(เบคกิ้งโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร
แช่ทิ้งไว้ 15 นาที เพียงเท่านี้ก็ปลอดภัยกันได้เปราะหนึ่ง ///
ผลวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้างในตำลึงสด
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณยาฆ่าแมลงตกค้าง (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
||
กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต |
กลุ่มคาร์บาเมต |
กลุ่มไพรีทรอยด์ |
|
ตำลึง ร้านที่ 1 ย่านสามย่าน |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
พบสารไซเพอร์เมทริน 0.03 |
ตำลึง ร้านที่ 2 ย่านราชวัตร |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
พบสารไซเพอร์เมทริน 0.02 |
ตำลึง ร้านที่ 3 ย่านบางขุนศรี |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
พบสารไซเพอร์เมทริน 0.01 |
ตำลึง ร้านที่ 4 ย่านพระราม 5 |
พบสารไดแอซินอน 0.06 |
ไม่พบ |
พบสารไซเพอร์เมทริน 0.02 |
ตำลึง ร้านที่ 5 ย่านเทเวศร์ |
ไม่พบ |
พบสารเมโทมิล 0.01 |
พบสารไซเพอร์เมทริน 0.01 |
วันที่วิเคราะห์ 24-30 เม.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9140 based on CDFA-MRS,
Method State of California, CA, USA, SOP (2002) ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/