ระวัง !!! น้ำตาลใน “ชาเย็น”
ชาไทย หรือที่รู้จักกันว่า ชาเย็น ดั้งเดิมนั้นใช้ชาซีลอนมาชงแบบเข้มข้น
แต่ด้วยความที่เป็นชาราคาแพง คนไทยจึงใช้ใบเมี่ยงแห้ง (ต้นชาพื้นเมือง) มาใส่สีผสมอาหาร
สีแดงและเหลือง กลายเป็นชาที่เห็นในปัจจุบัน
คนไทยส่วนใหญ่นิยมดื่มกันแบบเย็น ที่เราเรียกว่า ชาเย็น โดยนำใบชามาชงด้วยน้ำร้อน
เติมน้ำตาลนิด นมข้นหวานหน่อย และเหยาะนมจืดเข้าไป
ทำให้ได้ชาเย็นที่มีรสชาติหวานมัน ละมุนลิ้น และกลมกล่อม ที่หอมกลิ่นชา
ชาเย็น เป็นเมนูที่มีขายทั้งในร้านหรู รถเข็นริมทาง ร้านค้าตามห้างสรรพสินค้า และตามตลาดนัด
คนที่ชื่นชอบจะดื่มกันอยู่ที่วันละ 1 – 2 แก้ว บางคนก็แล้วแต่โอกาส ขนาดของแก้วปกติทั่วไป
ที่ชงขายอยู่ที่ประมาณ 250 มิลลิลิตร ทว่าในความหวานมัน ละมุนลิ้นของชาเย็นนั้น
หลายท่านอาจไม่ได้ตระหนักว่า ปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในชาเย็นที่เราดื่มทุกวันนั้น มีมากน้อยแค่ไหน
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างชาเย็น ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง
เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (ได้แก่ ฟรักโทส, กลูโคส, ซูโครส, มอลโทส, แล็กโทส)
ผลที่ได้ดังตารางด้านล่าง หากคำนวณโดยประมาณพบว่าในชาเย็น 1 แก้ว (ขนาด 250-300 มิลลิลิตร)
จะมีน้ำตาลทั้งหมดในปริมาณ 53.27 - 67.14 กรัม หรือประมาณ 13 – 16.79 ช้อนชา
นี่ยังไม่รวมที่จะได้รับจากอาหารชนิดอื่นๆ ที่ทานอีก
ปกติปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายควรได้รับต่อวันอยู่ในช่วง 6-8 ช้อนชา (ตามความเหมาะสมของอายุ)
หรือในปริมาณ 24 - 32 กรัมต่อวัน
ฉะนั้น ท่านที่ดื่มชาเย็นวันละ 2 แก้ว หรือมากกว่า ถ้ายังถามว่าอ้วนได้อย่างไร เป็นเบาหวานได้อย่างไร
เห็นจะหาสาเหตุได้ไม่ยาก วันนี้ หากต้องการห่างไกลจากโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน
และไขมันในเลือดสูง ขอแนะว่าให้ดื่มแต่พอดี
อาจเพียงวันละแก้วตามความอยากและความชอบ เพื่อความแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี ///
ผลวิเคราะห์ ปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในชาเย็น
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (กรัม/ 100 มิลลิลิตร) |
ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (กรัม/ ชาเย็น 1 แก้ว) |
ชาเย็นบรรจุแก้ว ร้าน 1 ย่านจรัญสนิทวงศ์ |
23.97 |
59.92 |
ชาเย็นบรรจุถุง ร้าน 2 ย่านพระราม 8 |
25.93 |
64.82 |
ชาเย็นบรรจุถุง ร้าน 3 ย่านปิ่นเกล้า |
23.81 |
59.52 |
ชาเย็นบรรจุขวด ร้าน 4 ย่านปิ่นเกล้า |
21.31 |
53.27 |
ชาเย็นบรรจุถุง ร้าน 5 ย่านปิ่นเกล้า |
22.38 |
67.14 |
วันที่วิเคราะห์ 24-30 เม.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ FDA-BAM Online, 2013 (Chapter 4)
In-house method T997 based on AOAC (2012) 982.14
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/