เชื่อก่อโรคใน... ยำมะม่วงปูม้า
คนไทยชอบทานอาหารรสจัด นิยมนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาผสมผสาน
ปรุงให้มีรสชาติถูกปาก หรือดัดแปลงจนเป็นอาหารชนิดใหม่อย่างที่ไม่น่าจะเข้ากันได้
เช่น ยำมะม่วงปูม้า ปูจืด ปูเค็ม หอยนางรม กุ้งสด ที่นำวัตถุดิบที่ไม่น่าจะเข้ากันได้มายำรวมกัน
เกิดเป็นเมนูใหม่ที่วัตถุดิบแต่ละชนิดต่างช่วยเสริมรสชาติให้แก่กัน กลายเป็นเมนูที่มีรสชาติจัดจ้าน
แถมมีสีสันน่าทานยิ่งขึ้น ยำมะม่วงปูม้า เมนูยอดฮิตที่มักเห็นขายอยู่ตามรถเข็น ร้านค้าริมทาง ริมถนน
คนไทยหาซื้อ หาทานกันได้ตลอดปีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ใครที่ชื่นชอบยำมะม่วงปูม้า วันนี้ขอเตือนให้ระวังกันไว้บ้างโดยเฉพาะเรื่องของความสด สะอาดของปูม้า
เพราะหากไม่ระมัดระวังอาจเกิดอันตรายและผลเสียต่อร่างกาย
จากเชื้อก่อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับปูม้าสด เช่น เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส
เชื้อชนิดนี้มักพบในสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู เมื่อเราได้รับเข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหาร
จะทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หนาวสั่น มีไข้ต่ำ
ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเองภายใน 3 วัน บางรายอาจมีอาการนานถึง 10 วัน
วิธีป้องกันอันตรายจากเชื้อชนิดนี้ที่ดีที่สุดคือ นำอาหารทะเลมาปรุงให้สุกก่อนทานทุกครั้ง ทว่ายำมะม่วงปูม้า
เป็นเมนูที่นำปูม้าดิบๆ มาปรุงกับน้ำยำ มะม่วงดิบ และส่วนผสมต่างๆ เมื่อยำเสร็จก็ทานกันดิบๆ
โดยไม่ผ่านความร้อน ฉะนั้น อาจมีเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ได้
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างยำมะม่วงปูม้า จำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านค้า 5 แห่ง
ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ปนเปื้อน
ผลวิเคราะห์ปรากฎว่าพบเชื้อดังกล่าวปนเปื้อนในยำมะม่วงปูม้า 3 ตัวอย่าง
ซึ่งตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารฯ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้
ต้องไม่พบเชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ปนเปื้อนเลยในอาหาร เห็นอย่างนี้แล้ว
ทางเลี่ยงความเสี่ยงและอันตรายจาก เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ที่ดีที่สุดคือ
เลือกซื้อจากร้านค้าที่มั่นใจว่าใช้ปูม้าที่สด สะอาด และมีการล้างทำความสะอาดปูม้าอย่างเพียงพอ
ก่อนนำมาปรุง ผู้ปรุงมีการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล และทำความสะอาดภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ
ที่ใช้ในการปรุงสม่ำเสมอ หรือถ้าจะให้ดีเลือกซื้อและเลือกทานอาหารที่ปรุงสุกจะปลอดภัยกว่า
ผลวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ในยำมะม่วงปูม้า
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (พบ, ไม่พบ/ 25 กรัม) |
ยำมะม่วงปูม้า ร้าน 1 ย่านบางแวก |
พบ |
ยำมะม่วงปูม้า ร้าน 2 ย่านตลิ่งชัน |
ไม่พบ |
ยำมะม่วงปูม้า ร้าน 3 ย่านปิ่นเกล้า |
พบ |
ยำมะม่วงปูม้า ร้าน 4 ย่านห้วยขวาง |
พบ |
ยำมะม่วงปูม้า ร้าน 5 ย่านสะพานพุทธ |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 9-13 ก.ค. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9218 based on ISO/TS
21872-1:2007/Cor.1:2008 ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/