ยาฆ่าแมลงตกค้างในลองกองสด
ลองกอง ผลไม้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องรสหวานแสนอร่อย เนื้อมีกลิ่นหอม นิยมทานแบบสดๆ
มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ทางภาคใต้ และภาคตะวันออกของไทย
แต่แม้ที่จริงแล้ว ลองกองมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะชวา
เกาะมลายูและทางตอนใต้ของไทยในจังหวัดนราธิวาส
ในเมืองไทยของเรามีสภาพภูมิประเทศ และอากาศเหมาะสม ลองกองจึงมีรสชาติดีกว่าที่อื่น
ปกติ หากปลูกแค่พอเก็บทานกันภายในบ้าน ที่เหลือก็ขายตามตลาดในหมู่บ้าน ชุมชน
ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทว่าหากมีการปลูกจำนวนมากเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ หรือขายครั้งละปริมาณมากๆ
เกษตรกร หรือผู้ปลูกบางราย อาจมีการป้องกันผลผลิตไม่ให้ถูกทำลายโดยโรคและแมลงที่เป็นศัตรูพืช
โดยใช้สารเคมีต่างๆ หรือยาฆ่าแมลง หากใช้ชนิดที่กฎหมายห้ามใช้ หรือใช้ชนิดที่อนุญาตให้ใช้ได้
แต่ใช้ในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ไม่ถูกวิธี อาจทำให้มียาฆ่าแมลงตกค้างในลองกองได้
ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น คลอร์ไพริฟอส ยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต
เมื่อได้รับจากอาหารปริมาณมากจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย
กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า หากมีอาการพิษรุนแรงจะหมดสติ
น้ำลายฟูมปาก อุจจาระ ปัสสาวะราด และหายใจลำบาก
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างลองกองสดในท้องตลาดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า
ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงชนิดคลอร์ไพริฟอสตกค้าง
ผลวิเคราะห์ปรากฎว่า ไม่พบยาฆ่าแมลงชนิดคลอร์ไพริฟอสตกค้างในลองกองสดทั้ง 5 ตัวอย่าง
แม้ว่าวันนี้ จะทานลองกองกันได้อย่างสบายใจ แต่ก็อย่าประมาท
ก่อนทานควรนำมาล้างด้วยน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ให้ล้างด้วยน้ำไหลโดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที
จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 %
ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด
แค่นี้ก็มั่นใจว่าปลอดภัยจากพิษภัยของยาฆ่าแมลง
ผลวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้างในลองกองสด
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณคลอร์ไพริฟอสตกค้าง (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
ลองกอง ร้านที่ 1 ย่านอุดมสุข |
ไม่พบ |
ลองกอง ร้านที่ 2 ย่านบางขุนศรี |
ไม่พบ |
ลองกอง ร้านที่ 3 ย่านพรานนก |
ไม่พบ |
ลองกอง ร้านที่ 4 ย่านสำโรง |
ไม่พบ |
ลองกอง จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านปิ่นเกล้า |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 23 ส.ค. – 3 ก.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method STM No.03-034 based on
Journal of AOAC International, Vol.90, No.2, 2007 ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/