แคดเมียมในเห็ดหูหนูขาวแห้ง
เห็ดหูหนูขาว นับเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารไทยหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงจืด ยำแซ่บๆ เย็นตาโฟ
เห็ดหูหนูขาว เป็นเห็ดที่หาทานได้ง่าย ราคาไม่แพง มีขายทั้งแบบสดๆ ตามร้านค้าในตลาดสด
หรือซูเปอร์มาร์เก็ต และแบบแห้งที่ขายตามร้านขายของแห้งทั่วไป
ชาวจีนยกย่องให้เห็ดหูหนูขาว เป็นเห็ดเพื่อสุขภาพ เป็นยาช่วยบำรุงกำลังและผิวพรรณ
ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยในการระบายท้อง และบำรุงระบบย่อยอาหาร
ทว่าเห็ดชนิดอื่นๆ รวมถึงเห็ดหูหนูขาว หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าอาจมีโลหะหนักที่เป็นอันตราย
เช่น แคดเมียม ปนเปื้อนอยู่ด้วยได้
ปกติเราจะได้รับแคดเมียมจากอาหาร น้ำ อากาศ โดยเฉพาะจากการทานอาหารที่มีพืช ผัก สมุนไพร หรืออาหารทะเลที่ปนเปื้อนแคดเมียม
แล้วส่วนประกอบอาหารเหล่านี้ปนเปื้อนแคดเมียมได้อย่างไร?
พืช ผัก สมุนไพร จะปนเปื้อนแคดเมียมได้จากการดูดซึมแคดเมียมที่มีในดินที่เพาะปลูก หรือน้ำที่ใช้รด
เข้าไปสะสมในลำต้นและใบ ส่วนอาหารทะเลหากจับมาจากแหล่งน้ำทะเลที่ใกล้กับแหล่งการทำอุตสาหกรรม
หรือแหล่งน้ำที่ใกล้กับบริเวณที่ทำเหมือง ก็อาจทำให้อาหารทะเลมีแคดเมียมปนเปื้อนได้
หากเราได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆ จากการทานอาหารจะทําให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มี น้ำลายไหล ปวดท้อง ช็อค ไตและตับถูกทําลาย
วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวแห้ง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 2 ร้านค้าและ 3 ยี่ห้อ
ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์แคดเมียมปนเปื้อน
ผลปรากฏว่าพบแคดเมียมปนเปื้อนในเห็ดหูหนูขาวแห้งทั้ง 5 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณที่น้อยมาก
ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานปริมาณปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมไว้ในอาหาร
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าแม้เห็ดหูหนูขาวจะมีประโยชน์เพียงใด ก็อย่าทานกันให้บ่อยนัก
ควรเลือกทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่จะดีกว่า
เพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกาย
ผลวิเคราะห์แคดเมียมใน… เห็ดหูหนูขาวแห้ง
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
แคดเมียม (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
เห็ดหูหนูขาวแห้ง ร้าน 1 ย่านเยาวราช |
น้อยกว่า 0.06 |
เห็ดหูหนูขาวแห้ง ร้าน 2 ย่านพรานนก |
0.14 |
เห็ดหูหนูขาวแห้ง ยี่ห้อ 1 |
น้อยกว่า 0.06 |
เห็ดหูหนูขาวแห้ง ยี่ห้อ 2 |
น้อยกว่า 0.06 |
เห็ดหูหนูขาวแห้ง ยี่ห้อ 3 |
น้อยกว่า 0.06 |
วันที่วิเคราะห์ 3-6 ก.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9166 based on AOAC (2012) 999.10
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/