น้ำตาลกับขนมไทยๆ
ขนมไทย ถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงที่ช่องน้อยสีมีการออกอากาศละครย้อนยุค
ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคที่มีการค้าขายอย่างเสรีกับต่างชาติ
โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสที่เข้ามารับใช้ถวายงานในพระราชสำนักหนึ่งในนั้นคือ ท้าวทองกีบม้า
ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ให้เป็นต้นเครื่องของหวานและเป็นต้นกำเนิดของขนมหวานไทยหลายชนิด
โดยเฉพาะขนมตระกูลทองๆ และขนมหม้อแกงที่ใช้วัตถุดิบหลักได้แก่ ไข่ น้ำตาล
บางชนิดอาจมีแป้งเป็นส่วนผสมหลักร่วมด้วย แม้ว่าขนมหวานไทยข้างต้นจะมีประวัติคู่เมืองไทย
มายาวนาน และเป็นขนมที่มักใช้ในงานมงคล ทว่า มีสิ่งที่ต้องพึงระวังให้มากคือ ความหวานจากน้ำตาล
น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย ในน้ำตาล 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่
ที่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง แต่ต้องไม่ลืมว่า
ร่างกายจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากอาหารแหล่งอื่นๆ ด้วย เช่น จากข้าว อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้
ที่เราทานระหว่างวัน หากได้รับมากเกินความต้องการ ร่างกายจะสะสมในรูปแบบของไกลโคเจน
ที่ตับและกล้ามเนื้อ เมื่อมีการสะสมของไกลโคเจนมากเกินไป
ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นการสะสมในรูปของเซลล์ไขมันเกิดเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคต่างๆ
ตามมาได้ แล้วใน 1 วันเราควรได้รับน้ำตาลปริมาณเท่าใด?
มีคำแนะนำเรื่องการทานน้ำตาลจากองค์การอนามัยโลกว่าใน 1 วัน ควรทานน้ำตาลทราย
ไม่เกิน 25 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา ท่านที่ชื่นชอบขนมหวานของไทยตระกูลทองๆ
ก่อนจะซื้อหามาทานขอให้หยุดพิจารณาดูผลการวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในขนมไทย
ตามตารางด้านล่างกันสักนิด โดยสถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมไทย 3 ชนิด ได้แก่
ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (ฟรักโทส, กลูโคส, ซูโครส,
มอลโทสและแล็กโทส) ผลวิเคราะห์พบว่าในตัวอย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง 100 กรัม
มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 23.22 - 54.22 กรัม เห็นอย่างนี้แล้ว
ท่านที่ติดหวานขอแนะว่าทานได้แต่อย่าทานกันให้บ่อยมากนัก เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง///
ผลวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในขนมไทย
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ
|
ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด
(กรัม/ 100 กรัม)
|
ขนมฝอยทอง ร้าน 1 ย่านบางขุนศรี
|
52.07
|
ขนมทองหยอด ร้าน 2 ย่านบางแค
|
54.22
|
ขนมทองหยิบ ยี่ห้อ 1
|
48.12
|
ขนมทองหยอด ร้าน 3 ย่านบางกอกน้อย
|
53.98
|
ขนมฝอยทอง ร้าน 4 ย่านนนทบุรี
|
23.22
|
วันที่วิเคราะห์ 5-7 ก.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T997 based on AOAC(2012) 989.05
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/