ยาฆ่าแมลงในส้มสายน้ำผึ้ง
ส้ม ผลไม้สีสวย รสชาติดี มีกลิ่นหอม อุดมด้วยวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายชนิด
แถมยังมีใยอาหารช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ส้มที่คนไทยนิยมทานนั้นมีหลายสายพันธุ์
พันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ พันธุ์สายน้ำผึ้ง อาจเพราะมีรสชาติที่ดีกว่า
หรือถูกปากคนไทยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งมีเนื้อแน่น สีสันสวยงาม น้ำเยอะ รสหวานอมเปรี้ยว
ปอกเปลือกง่าย ส้มสายน้ำผึ้งมีพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ
ปัจจุบันเริ่มกระจายพื้นที่เพาะปลูกมายังภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ หลายท่านอาจเคยได้ยินข่าว
ในช่วงปี 2560 จากการสุ่มสำรวจตลาดค้าส่งในไทยพบว่า ส้ม เป็นผลไม้ที่ตรวจพบสารพิษตกค้าง
มากถึง 9 ชนิด ที่เกษตรกรมีการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นเพราะในช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของผลส้ม
จะมีแมลงมารบกวนไม่ได้ หากผลส้มมีตำหนิจะส่งผลต่อราคาขาย
ฉะนั้น หากเกษตรกรมีการใช้ยาฆ่าแมลงจะต้องมีความรู้ และความระมัดระวังในการใช้
ไม่เช่นนั้นอาจเป็นพิษต่อร่างกายของทั้งผู้ปลูกและผู้ทาน ทั้งพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง
ยาฆ่าแมลงกลุ่มที่นิยมใช้ในระหว่างการเพาะปลูกส้มได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต
สารกลุ่มนี้หากได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆ จะทำให้มีอาการทางสมอง ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ
อาการที่พบเช่น ปวดศรีษะ งง ซึม กระสับกระส่าย ถ้าอาการมาก อาจชักและหมดสติ
อาการพิษเรื้อรัง จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เดินโซเซ เสียความรู้สึก กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย
ชนิดที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ โมโนโครโตฟอส พาราไธออน-เมทธิล เมธามิโดฟอส ไดโครโตฟอส
ส่วนชนิดที่มีพิษปานกลาง ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส ไดเมทโธเอท มาลาไธออน
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างส้มสายน้ำผึ้งสดในท้องตลาดจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพ
เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตตกค้าง จำนวน 32 ชนิด
ผลที่ได้คือ พบยาฆ่าแมลงตกค้างในส้มสายน้ำผึ้งจำนวน 4 ตัวอย่าง และมี 1 ตัวอย่าง
ที่พบสารโพรฟีโนฟอส ตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทย
ที่กำหนดให้ผลไม้ตระกูลส้ม พบสารโพรฟีโนฟอสตกค้างได้ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะให้ก่อนทานนำส้มมาล้างด้วยการแช่น้ำ
โดยนำมาใส่ในตะกร้าเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านความแรงพอประมาณ ระหว่างล้างให้ใช้มือถูไปมาบนผิวส้ม นานประมาณ 2 นาที
เพื่อการทานส้มอย่างปลอดภัย และสบายใจ
ผลวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงในส้มสายน้ำผึ้ง
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณยาฆ่าแมลงตกค้าง (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
ส้มสายน้ำผึ้ง ร้าน 1 ย่านลาดยาว |
ไม่พบ |
ส้มสายน้ำผึ้ง ร้าน 2 ย่านจตุจักร |
คลอร์ไพริฟอส-เอทิล 0.13, อีไทออน 0.51, มาลาไทออน 0.02 |
ส้มสายน้ำผึ้ง ร้าน 3 ย่านจตุจักร |
คลอร์ไพริฟอส-เอทิล น้อยกว่า 0.01, อีไทออน 0.14, โพรฟีโนฟอส 0.11 |
ส้มสายน้ำผึ้ง ร้าน 4 ย่านสามย่าน |
อีไทออน 2.46 |
ส้มสายน้ำผึ้ง ร้าน 5 ย่านเสาชิงช้า |
คลอร์ไพริฟอส-เอทิล 0.03, ไดแอซินอน 0.07, อีไทออน 0.74 |
วันที่วิเคราะห์ 11-17 ก.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9140 based on CDFA-MRS,
Method State of California, CA, USA, SOP (2002) ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/