ฟอร์มาลดีไฮด์กับ “สามสิบกลีบ”
เครื่องในวัว นับเป็นเครื่องในสัตว์ที่นิยมนำมาประกอบอาหารกันมากในบรรดาเครื่องในสัตว์ทั้งหมด
โดยมีรสชาติและลักษณะที่ต่างกัน เช่น ผ้าขี้ริ้วหรือสไบนาง ขอบกระด้ง รังผึ้ง สามสิบกลีบ
ทุกอย่างที่เรียกกันมาข้างต้นนั้น มันคือกระเพาะของวัวนั่นเอง
กระเพาะวัวมีหลายส่วนโดยแต่ละส่วนทำหน้าที่ต่างกัน เครื่องในวัวนับเป็นวัตถุดิบสำคัญ
ในการทำอาหารหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอาหารทางภาคอีสานทั้งลาบ ก้อย ยำ หรือจิ้มจุ่ม
ปกติเครื่องในสัตว์หากไม่สดจะเก็บรักษาได้ไม่นาน บางชิ้นส่วนหากเก็บไว้นานอาจมีสีคล้ำไม่น่าทาน
ทำให้อาจมีพ่อค้า แม่ค้าบางรายใช้สารเคมีมาเป็นตัวช่วยให้เก็บรักษาไว้ขายได้นานขึ้น
เช่น นำมาคลุกกับปูนขาวและขูดออกให้เกลี้ยง แล้วนำไปต้มให้สุก เสร็จแล้วนำไปแช่ในน้ำยาฟอร์มาลีนเพื่อให้คงสภาพความสดไว้
คนทานไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ เห็นว่าสดสวยน่าทาน
ก็ซื้อหามาปรุงเป็นอาหาร หารู้ไม่ว่าอาจกำลังหยิบจับสารเคมีอันตรายเข้าปากไปด้วยได้
ตามธรรมชาติฟอร์มัลดีไฮด์สามารถเกิดขึ้นเองในอาหารชนิดต่างๆ แต่เกิดในปริมาณน้อยมาก
และสลายตัวได้โดยแสงอาทิตย์ ออกซิเจน ความชื้น และร่างกายของคนเราสามารถกำจัดออกได้
แต่ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมากจากการทานอาหารที่มีน้ำยาฟอร์มาลีน หรือฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อน
จะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน
มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย หรือหากได้รับปริมาณน้อยๆ แต่ระยะยาว
จะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้
หากไม่มั่นใจว่าเครื่องในวัวที่ซื้อมามีฟอร์มาลีนหรือฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อนหรือไม่
วิธีป้องกันง่ายๆ คือ นำเครื่องในวัวมาแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง
(ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
เพราะฟอร์มาลีนจะทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เป็นเกลือฟอร์เมตที่ละลายน้ำได้
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บสามสิบกลีบสด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า
ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน
ผลปรากฎว่าพบฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในสามสิบกลีบถึง 4 ตัวอย่าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว
เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่ท่านที่ชื่นชอบสามสิบกลีบ คงต้องมีด่างทับทิมไว้ติดบ้านเพื่อความปลอดภัย ///
ผลวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ใน “สามสิบกลีบ”
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ฟอร์มาลดีไฮด์ (พบ/ ไม่พบ) |
สามสิบกลีบ ร้านที่ 1 ย่านนนทบุรี |
พบ |
สามสิบกลีบ ร้านที่ 2 ย่านสี่แยกบ้านแขก |
พบ |
สามสิบกลีบ ร้านที่ 3 ย่านสำโรง |
ไม่พบ |
สามสิบกลีบ ร้านที่ 4 ย่านสำโรง |
พบ |
สามสิบกลีบ ร้านที่ 5 ย่านพรานนก |
พบ |
วันที่วิเคราะห์ 2 ต.ค. 2561 วิธีวิเคราะห์ The chemical analysis of foods.,Pearson.D1970
p.43-44 (Qualitative) ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร
กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/