“หมูกระทะ” เมนูสุดโปรดแสนสะดวกของหลายคน ทั้งแบบไปนั่งฟินๆที่ร้าน หรือสั่งดีลิเวอรีส่งถึงบ้าน...หากลองคิดเล่นๆว่า หมูกระทะที่สั่ง ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบทำกันแบบไหน ผักสดนานาชนิดมีการล้างทำความสะอาด ก่อนจัดเป็นชุดหมูกระทะส่งมาให้เราหรือไม่
เหตุที่ตั้งโจทย์ขึ้นมา เพราะอาหารดีลิเวอรี เพราะเราไม่สามารถเห็นหน้าร้าน สถานที่เตรียม สถานที่ผลิตและเก็บรักษา สะอาดถูกหลักอนามัยหรือไม่ หากเราสั่งจากร้านที่ผู้ขายไม่ล้างวัตถุดิบให้สะอาด ไม่รักษาสุขลักษณะระหว่างการเตรียมวัตถุดิบ การปรุงน้ำจิ้ม น้ำซุป และการจัดเป็นชุดลงถุงให้สะอาด อาจทำให้เมนูที่เคยบอกกับตัวเองว่า “หมูกระทะจะเยียวยาทุกสิ่ง” ต้องแปรเปลี่ยนไปทันใด!
เพราะกำลังสั่งดีลิเวอรี ซาลโมเนลลา และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่ปนเปื้อนแฝงมาทำร้ายตัวเองและคนข้างเคียง ซึ่งมันมากับอาหารเคยนำเสนอไปแล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนครั้งนี้ขอนำเสนออันตรายของเชื้ออีกชนิดที่ชื่อ “สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส” เชื้อชนิดนี้เมื่อปนเปื้อนในอาหาร จะสร้างสารพิษ เอนเทอโรทอกซิน
สาเหตุของอาหารเป็นพิษ ผู้ที่รับเชื้อดังกล่าวจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้อง หรือที่กล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ การเต้นของชีพจรอาจผิดปกติ
สถาบันอาหาร ได้ทำการตรวจวิเคราะห์เชื้อก่อโรคในตัวอย่าง “หมูกระทะดีลิเวอรี” จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้าน ในเขตกรุงเทพฯ โดยนำวัตถุดิบอาทิ เนื้อหมูดิบ ผักสด วุ้นเส้น น้ำซุปและน้ำจิ้มมาผสมรวมกัน แล้วนำมาตรวจวิเคราะห์...ผลปรากฏว่าหมูกระทะดีลิเวอรีทุกตัวอย่างพบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อน
ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงด้วยการตรวจสอบเนื้อหมูทุกครั้งว่าต้องสด สะอาด ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ สีตามธรรมชาติ ผักสดควรนำมาล้างทำความสะอาดก่อนทานทุกครั้ง ที่สำคัญเนื้อหมูต้องย่างให้สุกทั่วทั้งชิ้น ไม่ควรทานแบบสุกๆดิบๆ และควรแยกตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อหมูขึ้นมาย่างกับตะเกียบที่ใช้ทาน เพื่อความปลอดภัย.
ผลวิเคราะห์เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ในหมูกระทะเดลิเวอรี่
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (ซีเอฟยู/ กรัม) |
หมูกระทะเดลิเวอรี่ ร้าน 1 ย่านตลิ่งชัน |
10 |
หมูกระทะเดลิเวอรี่ ร้าน 2 ย่านตลิ่งชัน |
990 |
หมูกระทะเดลิเวอรี่ ร้าน 3 ย่านพุทธมณฑลสาย 1 |
82 |
หมูกระทะเดลิเวอรี่ ร้าน 4 ย่านดุสิต |
290 |
หมูกระทะเดลิเวอรี่ ร้าน 5 ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย |
180 |
วันที่วิเคราะห์ 12-21 ก.พ. 2562 วิธีวิเคราะห์ FDA-BAM Online, 2016 (Chapter 12)
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/