กระเทียม สมุนไพรคู่ครัวไทย รสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนแต่แฝงไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ในกระเทียมจะมีสารอาหารทั้ง แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส โปแตสเซียม สังกะสี ซิลีเนียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 วิตามินซีและใยอาหาร
วันนี้กระเทียมที่วางขายในท้องตลาดบ้านเรา มีทั้งสายพันธุ์ที่ปลูกในไทยและนำเข้าจากจีน หากเป็นกระเทียมไทย ลักษณะกลีบจะเล็ก กลิ่นหอมฉุนใช้ปรุงอาหารไทยเพื่อดับกลิ่นคาว เพิ่มรสชาติให้อาหารประเภทผัด หรือใช้ทานสดๆ เป็นผักเคียง สรรพคุณช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ช่วยเผาผลาญอาหารได้ดีอีกด้วย
ส่วนกระเทียมจีน ลักษณะกลีบใหญ่แต่กลิ่นไม่หอม ฉุน มักใช้แทนในฤดูที่กระเทียมไทยมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยการนำเข้ามาเพื่อบริโภคต้องคำนึงคือ ความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องสารตกค้างอย่าง ออร์กาโนฟอสเฟต ออร์กาโนคลอรีน คาร์บาเมตและไพรีทรอยด์
สารดังกล่าวเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างสารกลุ่มออร์กาโนคลอรีน เมื่อเข้าสู่ร่างกายมันจะเข้าไปสะสมอยู่ในไขมันตามส่วนต่างๆ เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด เมื่อยล้าตามร่างกาย
สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายต่อระบบประสาท ทำให้มึนศีรษะ ปวดศีรษะ งง ซึม กระสับกระส่าย กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย อาจชักและหมดสติได้ สารกลุ่มไพรีทรอยด์เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลียปวดหัว
เพื่อลดความวิตกกังวล สถาบันอาหารได้ทำการสุ่มตัวอย่างกระเทียมจีนสดๆ จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 แผงลอยในตลาดสดในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์การตกค้างของยาฆ่าแมลง 4 กลุ่มข้างต้น จำนวนรวม 58 ชนิด ผลวิเคราะห์ปรากฏว่ากระเทียมจีนสดทุกตัวอย่างไม่พบสารดังกล่าว.
ผลวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงในกระเทียมจีนสด
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ยาฆ่าแมลงตกค้าง (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
|||
กลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต |
กลุ่ม ออร์กาโนคลอรีน |
กลุ่ม คาร์บาเมต |
กลุ่ม ไพรีทรอยด์ |
|
กระเทียมจีน แผงลอยร้าน 1 ย่านพรานนก |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
กระเทียมจีน แผงลอยร้าน 2 ย่านบางขุนศรี |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
กระเทียมจีน แผงลอยร้าน 3 ย่านสี่แยกบ้านแขก |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
กระเทียมจีน แผงลอยร้าน 4 ย่านอรุณอมรินทร์ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
กระเทียมจีน แผงลอยร้าน 5 ย่านปิ่นเกล้า |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 27-30 พ.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9140 based on CDFA-MRS,
Method State of California, CA, USA, SOP (2002) ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/