สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคกับไส้กรอกอีสาน

เชื้อก่อโรคกับไส้กรอกอีสาน

          สังคมโซเชียล โลกออนไลน์ มีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว สิ่งต่างๆ รอบตัวได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่ต้องการได้ทันที

         โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง อาหารการกิน นับเป็นข่าวที่เราพบเห็นได้บ่อยครั้ง อย่างล่าสุด เรื่องผัดไทย ที่วันนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้

          ก่อนหน้านั้นมีการรายงานข้อมูลการสุ่มตรวจอาหารประเภทแหนม ปลาส้มและไส้กรอกอีสาน พบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 20 สาเหตุเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในอาหาร ได้แก่เชื้อ อี.โคไล สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และ ซาลโมเนลลา เชื้อเหล่านี้สามารถปนเปื้อนได้จากขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการการผลิต บรรจุ เก็บรักษา

          หากผู้ผลิตหรือผู้ขาย มีการรักษาความสะอาด สุขลักษณะที่ดี ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากสุขลักษณะผู้ผลิต ขั้นตอนการจัดการแปรรูปไม่ดีพอ ก็เสี่ยงที่จะทำให้มีเชื้อก่อโรค สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนมาในอาหารได้เช่นกัน

         โดยเฉพาะเมนูไส้กรอกอีสาน อาหารพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาโบราณ ซึ่งเป็นเมนูยอดนิยมอย่างไม่ตกยุค มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป หาซื้อได้ง่ายตั้งแต่รถเข็น แผงลอย ร้านค้าแทบทุกตรอกซอกซอย ไม่เว้นแม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อ

          เพื่อความปลอดภัย สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างไส้กรอกอีสานจำนวน 5 ตัวอย่าง จากรถเข็น แผงลอย และร้านค้าใน 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์หาเชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่อาจปนเปื้อนแฝงมากับไส้กรอกอีสาน ผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ไส้กรอกอีสานทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อน

          วันนี้ขอปรบมือให้ผู้ผลิต พ่อค้า แม่ขายไส้กรอกอีสานทุกๆท่านที่ใส่ใจความปลอดภัยของผู้บริโภค.

ผลวิเคราะห์เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส  ในไส้กรอกอีสาน

 

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส

(ซีเอฟยู/ กรัม)

ไส้กรอกอีสาน แผงลอยร้าน 1 ย่านพรานนก

ไม่พบ

ไส้กรอกอีสาน รถเข็น 1 ย่านบางยี่ขัน

ไม่พบ

ไส้กรอกอีสาน แผงลอยร้าน 2 ย่านบางขุนนนท์

ไม่พบ

ไส้กรอกอีสาน ร้าน 1 ย่านวชิรพยาบาล

ไม่พบ

ไส้กรอกอีสาน ร้าน 2 ย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย

ไม่พบ

 

วันที่วิเคราะห์  3 - 8 ก.ค. 2562    วิธีวิเคราะห์  FDA-BAM Online, 2016 (Chapter 12)

ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย  สถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม  

โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins