“หมึกกรอบ” อาหารจากภูมิปัญญาของชาวจีน ที่นำเข้ามาในประเทศไทยสมัยก่อน โดยใช้ “ขี้เถ้า” มาช่วยแปลงร่างหมึกแห้งให้กลายเป็นหมึกกรอบ ด้วยวิธีนำขี้เถ้า 1 ส่วน มาละลายในน้ำ 3 ส่วน หลังขี้เถ้าตกตะกอนจึงนำปลาหมึกแห้งมาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งเช้า จากหมึกแห้งจะกลายร่างเป็นหมึกกรอบตัวใหญ่ กรุบกรอบ ดูน่าทาน
สมัยนี้การผลิตหมึกกรอบปริมาณมากๆ ถ้าจะต้องมานั่งหาขี้เถ้ามาละลายน้ำ เห็นทีจะไม่ทันกิน
ผู้ผลิตจึงนำ “เบกกิ้งโซดา” (โซเดียมไบคาร์บอเนต) มาละลายน้ำแทนการใช้ขี้เถ้า มาผลิตหมึกกรอบ ซึ่งสารชนิดนี้นำมาใช้หรือผสมลงในอาหารได้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่ทว่าผู้ผลิตบางรายอาจกลัวว่าหมึกกรอบของตนจะไม่กรุบกรอบและเก็บได้นานอย่าง
ที่ต้องการ จึงแอบใส่ “สารบอแรกซ์” เพื่อเพิ่มความกรุบกรอบ ช่วยให้หมึกคงรูปและไม่เสียง่าย
สำหรับการใช้บอแรกซ์ ตามข้อกฎหมายกำหนดว่าห้ามใช้ผสมลงในอาหาร เพราะเป็นสารอันตราย เพราะหากผู้บริโภคได้รับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆ นอกจากจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง หากได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณน้อยๆแต่บ่อยครั้งติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับไตอักเสบ
เพื่อความสบายใจ สถาบันอาหาร จึงได้สุ่มตัวอย่างปลาหมึกกรอบ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 4 แผงลอยและ 1 ร้านค้าในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์สารบอแรกซ์ปนเปื้อน ซึ่งผลปรากฏเป็นที่น่าพอใจเพราะปลาหมึกกรอบทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนสารดังกล่าว ฉะนั้น สาวกหมึกกรอบหม่ำได้อย่างสบายใจ.
ผลวิเคราะห์สารบอร์แรกซ์ในปลาหมึกกรอบ
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
สารบอร์แรกซ์ (พบ/ ไม่พบ) |
ปลาหมึกกรอบ แผงลอยร้าน 1 ย่านพรานนก |
ไม่พบ |
ปลาหมึกกรอบ แผงลอยร้าน 2 ย่านบางขุนศรี |
ไม่พบ |
ปลาหมึกกรอบ ร้าน 1 ย่านราชพฤกษ์ |
ไม่พบ |
ปลาหมึกกรอบ แผงลอยร้าน 3 ย่านปากเกร็ด |
ไม่พบ |
ปลาหมึกกรอบ แผงลอยร้าน 4 ย่านนนทบุรี |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 5 ก.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ AOAC (2016) 970.33
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/