วัยเด็กเล็ก หรือวัยอนุบาล ช่วงอายุ 3-6 ขวบ เป็นวัยแห่งการเริ่มเรียนรู้สิ่งรอบตัวไม่เว้นแม้แต่เรื่องอาหารการกิน ที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้เด็กๆ ว่าอาหารชนิดใดเป็นประโยชน์และอย่างไหนให้โทษต่อร่างกาย
โดยเฉพาะอาหารที่มีสีสันฉูดฉาด หลากสีสัน เด็กเห็นเมื่อใดมักเกิดความอยากลิ้มชิมรสชาติ โดยหารู้ไม่ว่ากำลังหยิบอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้
สีผสมอาหารทั้งสีจากธรรมชาติและสีสังเคราะห์เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ที่หน่วยงานรัฐอนุญาตให้เติมลงในอาหารได้ แต่ต้องเติมในปริมาณตามที่กฎหมายกำหนด เพราะหากใช้ปริมาณที่มาก เกินจากที่กฎหมายกำหนดอาจก่อผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สีบางชนิดทำให้เกิดการแพ้ ผื่นคัน
เพื่อคลายความวิตกกังวล สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างขนมเด็ก จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ
นำมาวิเคราะห์สีผสมอาหารสังเคราะห์ 8 ชนิด ได้แก่ เอโซรูบีน (สีแดง), ปองโซ 4 อาร์ (สีแดงสด), อีริโทรซิน (สีชมพู), ฟาสต์ กรีน เอฟซีเอฟ (สีเขียว), อินดิโกทิน (สีน้ำเงิน), บริลเลียนต์ บลู เอฟซีเอฟ (สีน้ำเงิน), ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ (สีเหลืองส้ม) และตาร์ตราซีน (สีเหลือง) ผลปรากฏว่า
พบในขนมเด็ก 5 ตัวอย่าง มีการใช้สีผสมอาหาร 3 ชนิด คือ เอโซรูบีน, ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ และตาร์ตราซีน ซึ่งอยู่ในปริมาณที่ยังไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ที่กำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้สี 3 ชนิด ตามที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ยังต้องสอนให้เด็กๆเป็นคนช่างสังเกตและเลือกทานขนมหรืออาหารที่สีไม่ฉูดฉาดเกินไป และต้องอ่านฉลากรายการส่วนผสมให้ละเอียดก่อนซื้อ และควรเลือกขนมที่ใช้สีธรรมชาติ จะปลอดภัยกว่าสีสังเคราะห์.
ผลวิเคราะห์สีผสมอาหารในขนมเด็ก
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
สีผสมอาหาร (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
||
เอโซรูบีน |
ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ |
ตาร์ตราซีน |
|
ขนมเด็ก รสโคล่า ยี่ห้อ 1 บรรจุกระปุก |
51.50 |
- |
- |
ขนมเด็ก รสโคล่า ยี่ห้อ 2 บรรจุขวด |
22.31 |
39.95 |
15.18 |
ขนมเด็ก รสโคล่า ยี่ห้อ 3 บรรจุขวด |
17.36 |
32.82 |
15.36 |
ขนมเด็ก รสส้ม ยี่ห้อ 4 บรรจุถุง |
- |
- |
33.68 |
ขนมเด็ก รสส้ม ยี่ห้อ 5 บรรจุขวด |
- |
59.08 |
- |
วันที่วิเคราะห์ 9 - 16 ส.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9190 based on AOAC(2016) 930.38
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/