ผักกาดโรเมนหรือผักกาดคอสเป็นผักที่นิยมใช้ทำสลัด และใส่ในแซนด์วิช ฉะนั้นจึงต้องรับประทานสดๆ หากล้างผักไม่สะอาด หรือเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีระบบการจัดการด้านความสะอาดที่ไม่ดีพออาจทำให้มีเชื้อก่อโรค เช่น อี.โคไล ปนเปื้อนได้ โดยในปีที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกามีข่าวครึกโครมพบการระบาดของเชื้อ อี.โคไล ที่ปนเปื้อนมาในผักกาดโรเมน โดยพบการระบาดใน 35 รัฐ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 197 คน และเสียชีวิต 5 คน
สำหรับเชื้อ อี.โคไล พบได้ทั่วไปในลำไส้คนและสัตว์เลือดอุ่น จึงมักพบปะปนอยู่ในอุจจาระ มูลสัตว์ และมักพบปนเปื้อนในพืชผักสด และอาหารแทบทุกชนิด หลังเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว หรือท้องร่วงเรื้อรัง
แต่หากเป็นเชื้อ อี.โคไล สายพันธุ์ที่สามารถสร้างสารพิษได้ เช่น สารพิษชิกาจะทำให้มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ อาเจียน รายที่ป่วยหนักไตจะวายและเสียชีวิต เหมือนเช่นการระบาดที่ทำให้มีคนตายในสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา
เพื่อลดความกังวล สถาบันอาหาร จึงทำการสุ่มเก็บผักกาดคอสที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ นำมาตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อน ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะผักกาดคอสทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อน
แต่เพื่อความชัวร์ ควรล้างมือหลังออกจากห้องน้ำทุกครั้ง และก่อนปรุงอาหาร ผักสดที่นำมาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาด หากทานสดต้องล้างให้สะอาด ด้วยวิธีล้างผ่านน้ำไหลหลายๆครั้ง
และ...ที่สำคัญหมั่นทำความสะอาดช่องในตู้เย็นหรือตู้แช่เย็นที่ใช้เก็บผักสดให้สะอาดอยู่เสมอ เพียงแค่นี้ก็สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อก่อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่ในผักสดได้.
ผลวิเคราะห์ อี. โคไล ในผักกาดคอสนำเข้า
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
อี. โคไล ( MPN/ กรัม ) |
ผักกาดคอส ยี่ห้อ 1 นำเข้าจากสหรัฐฯ |
ไม่พบ |
ผักกาดคอส ยี่ห้อ 2 นำเข้าจากสหรัฐฯ |
ไม่พบ |
ผักกาดคอส จากซุปเปอร์มาเก็ตย่านอารีย์ นำเข้าจากออสเตรเลีย |
ไม่พบ |
ผักกาดคอสจากร้านในตลาดไท นำเข้าจากออสเตรเลีย |
ไม่พบ |
ผักกาดคอสจากร้านในตลาดไท นำเข้าจากสหรัฐฯ |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 9 – 15 ส.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ FDA-BAM Online, 2017 (Chapter 4)
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/