ประเพณีการไหว้พระจันทร์ปีนี้ ตรงกับศุกร์ 13 กันยายน 2562 การไหว้พระจันทร์เป็นประเพณีตกทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
พิธีไหว้นั้น จะเริ่มตอนหัวค่ำเมื่อดวงจันทร์ปรากฏไปจนถึง 4-5 ทุ่ม หลังเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งขนมไหว้พระจันทร์กินกัน โดยหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามเกินหรือขาด แต่ละชิ้นต้องมีขนาดเท่ากัน
ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ความกลมเกลียวของคนในครอบครัว ซึ่งรูปลักษณ์ต้องเป็นรูปทรงกลม มีไส้หวานหรือสอดไส้ด้วยธัญพืชที่มีรสหวาน
ปัจจุบันผู้ผลิตได้เพิ่มความหลากหลายมีทั้งไส้แฮม หมูหยอง หมูแดง หรืออื่นๆ ผลิตขายในรูปแบบธุรกิจมากขึ้น และเพื่อยืดอายุการเก็บให้นานขึ้นและส่งต่อความอร่อยให้คนทานได้นานขึ้น อาจมีผู้ผลิตบางรายใช้ “กรดเบนโซอิก” และ “กรดซอร์บิก” เป็นวัตถุกันเสีย
สารทั้งสองชนิดจะไปยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย ทำให้เก็บอาหารได้ยาวนานขึ้น แม้ตามกฎหมายจะอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนด แม้จะได้รับทีละน้อยแต่ยาวนานอาจก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ส่วนในบางรายที่รับสารดังกล่าวปริมาณมากๆจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ
เพื่อความสบายใจ สถาบันอาหาร จึงทำการสุ่มตัวอย่างขนมไหว้พระจันทร์ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์ หากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เป็นเรื่องน่ายินดีเนื่องจากขนมไหว้พระจันทร์ทุกตัวอย่างไม่พบสารกันบูดทั้ง 2 ชนิด
วันไหว้พระจันทร์ปีนี้นับเป็นวันดีๆกับขนมไหว้พระจันทร์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ.
ผลวิเคราะห์สารกันบูดในขนมไหว้พระจันทร์
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
สารกันบูด (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
|
กรดเบนโซอิก |
กรดซอร์บิก |
|
ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้ผลไม้ 5 อย่าง ร้านย่านสัมพันธวงศ์ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้ทุเรียนหมอนทอง ร้านย่านสัมพันธวงศ์ |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้โหงวยิ้งไข่ 1 ยี่ห้อ 1 |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ลูกบัวไข่เดียว ย่านคลองสาน |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้เมล็ดบัวไข่ 1 ยี่ห้อ 2 |
ไม่พบ |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 9-16 สิงหาคม 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9124 based on ISO 22855:2008
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/