สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันบูดในกานาฉ่าย

สารกันบูดในกานาฉ่าย

          เทศกาลถือศีลกินเจในปีนี้ตรงกับวันที่ 28 กันยายน-7 ตุลาคม 2562 ในช่วงนี้ พืช ผัก ผลไม้สดราคาจะปรับตัวสูงขึ้น โดยประเภทอาหารที่นิยมบริโภคในช่วงนี้ได้แก่ ผัก เต้าหู้ และโปรตีนเกษตรชนิดต่างๆ

          และที่จะขาดไม่ได้ในสำรับคือ “กานาฉ่าย” ซึ่งมีส่วนผสมของผักกาดดองสับ ลูกสมอดอง และเห็ดหอม นำมาตุ๋นและเคี่ยวจนได้ที่

          หาซื้อได้ตามตลาดทั่วไป ขายในหลายรูปแบบ ทั้งตักแบ่งและบรรจุในผลิตภัณฑ์หลากหลาย นำมากินกับข้าวต้มจะเพิ่มรสชาติให้อร่อยลิ้น

          การแปรรูปกานาฉ่ายต้องมีความพิถีพิถัน ดังนั้น ผู้ผลิตหลายรายต้องการให้กานาฉ่ายเก็บไว้ขายหรือเก็บไว้กินได้นานๆ จึงต้องหาตัวช่วยซึ่งหนีไม่พ้น นั่นคือ สารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก นำมาเติมลงในกานาฉ่าย โดยสารทั้ง 2 ชนิด ในทางกฎหมายไทยอนุญาตให้เติมในอาหารได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณตามที่กำหนดเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

          สำหรับสารกันบูด หากได้รับปริมาณที่ไม่สูง ร่างกายจะสามารถขับออกเองได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าปริมาณมากเกิน และได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

          เพื่อลดความกังวล สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างกานาฉ่ายจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้าน ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดนครราชสีมา นำมาวิเคราะห์สารกันบูด 2 ชนิด คือ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก

          ผลปรากฏเป็นที่น่าพอใจ เพราะจากการสุ่มเก็บตัวอย่างดังกล่าว ไม่พบว่ามีกรดซอร์บิกมาผสมในกานาฉ่าย แต่พบกรดเบนโซอิกใน

          กานาฉ่ายทั้ง 5 ตัวอย่าง และมีอยู่ 3 ตัวอย่างที่พบในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ที่กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

          เห็นอย่างนี้แล้วขอแนะว่าเลือกซื้อ เลือกกินอาหารที่ไม่ใส่สารกันบูดจะดีกว่า โดยดูรายการส่วนประกอบบนฉลาก หรือเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจได้ว่าไม่ใช้สารกันบูด ที่สำคัญเลือกทานอาหารให้หลากหลายเพื่อความปลอดภัยในระยะยาว.

ผลวิเคราะห์สารกันบูดในกานาฉ่าย

 

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

ปริมาณสารกันบูด

(มิลลิกรัม/ กิโลกรัม)

กรดเบนโซอิก

กรดซอร์บิก

กานาฉ่าย ร้าน 1 ย่านสัมพันธวงศ์

302.45

ไม่พบ

กานาฉ่าย ร้าน 2 ย่านสัมพันธวงศ์

1,523.05

ไม่พบ

กานาฉ่าย ร้าน 3 ย่านคลองจั่น

583.57

ไม่พบ

กานาฉ่าย ร้าน 4 ย่านวังน้ำเขียว นครราชสีมา

683.26

ไม่พบ

กานาฉ่าย ร้าน 5 ย่านดินแดง

295.53

ไม่พบ

 

วันที่วิเคราะห์ 9-16 สิงหาคม 2562     วิธีวิเคราะห์ In-house method T9124 based on ISO 22855:2008

ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย  สถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม

โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins