สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคในผักโขมสดนำเข้า

เชื้อก่อโรคในผักโขมสดนำเข้า

          “ผักโขม” ขึ้นชื่อเรื่องประโยชน์ด้านการต้านอนุมูลอิสระ เป็นผักที่ให้คุณประโยชน์ มีขึ้นอยู่ทั่วไปในบ้านเรา และมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาประกอบอาหารด้วยเช่นกัน ผักชนิดนี้มีสรรพคุณมากมาย อาทิ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ ช่วยลดระดับคอเลสเทอรอล เพราะผักโขมมีทั้งโปรตีน วิตามิน กรดอะมิโนและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย

            แต่ขึ้นชื่อว่าผักนำเข้า ส่วนใหญ่จะมีราคาค่อนข้างสูง และหลายคนจึงมักคิดว่าได้มาตรฐาน ปลอดภัย สามารถนำมารับประทานได้เลยโดยไม่ต้องล้างทำความสะอาด ซึ่งความคิดดังกล่าวค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและยังเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อปี 2561 พบว่าผลิตภัณฑ์ผักโขมสดที่ผลิตและวางขายในแคนาดา มีเชื้อ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส ปนเปื้อน ในครั้งนั้นส่งผลให้ต้องมีการเรียกคืนออกจากตลาด

            เชื้อดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษที่เรียกว่า โรคลิสเทอริโอซิส (Listeriosis) ซึ่งอาการของโรคจะคล้ายโรคหวัด หากเกิดขึ้นในกลุ่มหนุ่มสาว ที่สุขภาพแข็งแรง จะวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน

            และ...หากกลุ่มมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ ได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าไปอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแท้งลูกได้ ส่วนเด็กทารกและผู้สูงอายุอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

            เพื่อคลายความวิตกกังวล สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บผักโขมสดนำเข้าจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่นำเข้าจาก 2 ประเทศ มาตรวจวิเคราะห์เชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส ผลปรากฏว่าไม่พบเชื้อปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง แต่ถึงกระนั้นเพื่อความไม่ประมาท ก่อนบริโภคผักสดทั้งผักนำเข้าและผักในประเทศ ต้องล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้งหรือ นำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน.

ผลวิเคราะห์ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส ในผักโขมสดนำเข้า

 

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส

(พบ, ไม่พบ/ 25 กรัม)

ผักโขม ออแกนิค ซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านอารีย์ นำเข้าจากออสเตรเลีย

ไม่พบ

ผักโขม ออแกนิค ยี่ห้อ 1 นำเข้าจากออสเตรเลีย

ไม่พบ

ผักโขม ออแกนิค ยี่ห้อ 2 นำเข้าจากอเมริกา

ไม่พบ

ผักโขม ออแกนิค ยี่ห้อ 3 นำเข้าจากออสเตรเลีย

ไม่พบ

ผักโขม ยี่ห้อ 4 นำเข้าจากออสเตรเลีย

ไม่พบ

 

      วันที่วิเคราะห์ 9 – 15 ส.ค. 2562     วิธีวิเคราะห์  ISO 11290-1 : 2017

      ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม

      โทร. 02 422 8688  หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins