ต้นปี 2562 ไทยเริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน รวมทั้งอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เพราะน้ำมันดังกล่าวจะมีกรดไขมันทรานส์อยู่ด้วย
เมื่อผู้ผลิตนำน้ำมันดังกล่าวมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ เช่น มาการีน เนยเทียม เนยขาว จะทำให้อาหารทั้งเค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ และเบเกอรีต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โดนัทที่ทอดในน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน มีส่วนประกอบของกรดไขมันทรานส์
เหตุที่กฎหมายห้ามเพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า การทานอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ส่งผลให้คอเลสเทอรอลรวมไขมันชนิดเลว (LDL) และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น และทำให้ระดับไขมันชนิดดี (HDL) ลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ห้ามพบกรดไขมันทรานส์ในอาหาร เพราะอาหารบางชนิดมีกรดไขมันทรานส์อยู่ตามธรรมชาติ เช่น เนื้อวัว ควาย นม เนย ชีส แต่มีในปริมาณน้อย
สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างขนมปังเนยสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 3 ย่านการค้า และ 2 ยี่ห้อ ในเขต กทม.และปริมณฑล นำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันทรานส์ ผลคือพบกรดไขมันทรานส์ในขนมปังเนยสดทั้ง 5 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณเพียง 0.01-0.09 กรัม/ขนมปังเนยสด 100 กรัม ซึ่งยังไม่เกินมาตรฐานที่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) แนะนำไว้คือ แต่ละวันไม่ควรได้รับกรดไขมันทรานส์เกิน 2 กรัม และในอาหารควรมีกรดไขมันทรานส์ได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สำหรับขนมปังปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงเท่ากับ 50 กรัม
จากผลการวิเคราะห์ในตารางเมื่อนำมาคำนวณปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่พบในขนมปังเนยสด 50 กรัม พบว่าปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่พบยังไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นับว่าผู้ผลิตอาหารไทยให้ความใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตจนทำให้ขนมปังเนยสดวันนี้ปลอดภัยจากอันตรายของกรดไขมันทรานส์.
ผลวิเคราะห์กรดไขมันทรานส์ในขนมปังเนยสด
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
กรดไขมันทรานส์ (กรัม/ 100 กรัม) |
ขนมปังเนยสด ร้าน 1 ย่านพุทธมณฑลสาย 4 |
0.03 |
ขนมปังเนยสด ร้าน 2 ย่านศาลายา |
0.01 |
ขนมปังเนยสด แผงลอยร้าน 3 ย่านบางพลัด |
น้อยกว่า 0.01 |
ขนมปังเนยสด ยี่ห้อ 1 |
0.09 |
ขนมปังเนยสด ยี่ห้อ 2 |
0.06 |
วันที่วิเคราะห์ 1 - 3 ต.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9142 based on AOAC(2016) 996.06
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/