อาหารเช้านับเป็นอาหารมื้อแรกที่สำคัญ มีหลักการเลือกทาน 3 ข้อคือ ตรงเวลา ครบ 5 หมู่ และพอดีกับความต้องการของร่างกาย หากเราทานอาหารเช้าอย่างถูกต้องและได้สารอาหารครบถ้วน จะส่งผลให้ร่างกายนำพลังงานจากอาหารที่ได้รับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองทำงานได้เต็มที่ ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย และช่วยให้ไม่หิวมากระหว่างอาหารมื้ออื่นๆ
อาหารมื้อเช้าของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นของร้อน ทานง่าย สะดวกปรุง หรือสะดวกซื้อได้ทั่วไป ทั้งต้มเลือดหมู และโจ๊กหมูตามร้านข้างทาง รวมทั้งโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปแบบซองหรือถ้วยในร้านสะดวกซื้อหรือร้านของชำ
แต่โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ จะมีโซเดียม (เกลือแกง) ปริมาณสูง แม้โซเดียมจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยปรับสมดุลของเหลวและเกลือแร่ ช่วยการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ หากได้รับในปริมาณที่ ร่างกายต้องการโซเดียมปริมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วัน สูงสุดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน (เทียบเท่าเกลือประมาณ 1 ช้อนชา)
หากได้รับเกินกว่านี้ จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ การเลือกทานอาหารเช้าที่ดีต่อร่างกายในทุกๆวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจ
สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 5 ตัวอย่างจาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียม ผลปรากฏว่าพบโซเดียมในโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปปริมาณอยู่ในช่วง 668.47-1,549.24 มิลลิกรัมต่อซองหรือต่อถ้วย
เห็นอย่างนี้ ขอแนะว่าควรอ่านฉลากโภชนาการหรือฉลาก GDA บนบรรจุภัณฑ์ก่อน แล้วเลือกซื้อชนิดที่มีโซเดียมต่ำๆ หากบรรจุภัณฑ์แนะนำให้แบ่งบริโภคเป็น 2 ครั้ง ควรปฏิบัติตาม เพื่อไม่ให้ร่างกายเราได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการ
เพราะแต่ละวันร่างกายเราได้รับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วยเช่นกัน.
ผลวิเคราะห์ โซเดียมในโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
โซเดียม (มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) |
โซเดียม (มิลลิกรัม/ 1 ซองหรือ 1 ถ้วย) |
โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ยี่ห้อ 1 |
30,984.75 |
1,549.24 (1 ซองหนัก 50 กรัม) |
โจ๊กข้าวโอ๊ตกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ ยี่ห้อ 2 |
20,889.82 |
668.47 (1 ซองหนัก 32 กรัม) |
โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ ยี่ห้อ 3 |
24,485.76 |
881.49 (1 ถ้วยหนัก 36 กรัม) |
โจ๊กข้าวหอมมะลิกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ยี่ห้อ 4 |
25,671.49 |
1,411.93 (1 ซองหนัก 55 กรัม) |
โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ยี่ห้อ 5 |
19,922.18 |
697.28 (1 ซองหนัก 35 กรัม) |
วันที่วิเคราะห์ 22 - 24 ต.ค. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T9152 based on AOAC(2016) 984.27
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/