น้ำปลา เครื่องปรุงแต่งรสอาหารที่ให้รสเค็มแบบกลมกล่อม ที่อยู่คู่ครัวไทยและอาหารไทยมายาวนาน การทําน้ำปลาใช้ได้ทั้งปลาทะเล ปลาน้ำจืด และสัตว์อื่นๆนำมาหมัก
สมัยโบราณ หากเราทำน้ำปลาทานเองในครัวเรือนปริมาณไม่มาก สามารถควบคุมความสะอาดสุขลักษณะที่ดี ตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบ ล้างทำความสะอาด การหมัก กระทั่งการเก็บรักษาได้ทุกขั้นตอน แต่หากผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมในปริมาณมากๆ ผู้ผลิตต้องควบคุมกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน
สถานที่ผลิตต้องได้ตามมาตรฐาน GMP เพื่อให้น้ำปลามีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องน้ำปลา หากผลิตเพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ ต้องควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน HACCP อีกด้วย เพื่อเป็นการการันตีว่า สินค้าน้ำปลานั้นปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่พบการปนเปื้อนของทั้งจุลินทรีย์ก่อโรคและสารพิษจากเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ที่มีอันตรายร้ายแรง
เชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม มักพบปนเปื้อนในอาหารที่เก็บในสภาพที่มีออกซิเจนน้อย เช่น กระป๋อง ขวดหรือปี๊บที่ปิดสนิท หากเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนในอาหารและอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมมันจะเจริญเติบโต สร้างสารพิษ ปนเปื้อนลงสู่อาหารได้
เมื่อเราได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการมองเห็นภาพไม่ชัด หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนน้ำและอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ปากแห้ง ท้องเสียหรือท้องผูก กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หากอาการรุนแรงผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจได้เพียงพอ และเสียชีวิตได้
สถาบันอาหาร ได้ทำการสุ่มตัวอย่างน้ำปลาแท้บรรจุขวด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ นำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ผลปรากฏ น้ำปลาแท้ที่ผลิตในไทยทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคดังกล่าว วันนี้การันตีได้ว่าน้ำปลาแท้ของไทยนั้นปลอดภัย สบายใจกันได้.
ผลวิเคราะห์เชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาแท้
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
คลอสตริเดียม โบทูลินัม (พบ, ไม่พบ/ มิลลิลิตร) |
น้ำปลาแท้ ยี่ห้อ 1 |
ไม่พบ |
น้ำปลาแท้ ยี่ห้อ 2 |
ไม่พบ |
น้ำปลาแท้ ยี่ห้อ 3 |
ไม่พบ |
น้ำปลาแท้ ยี่ห้อ 4 |
ไม่พบ |
น้ำปลาแท้ ยี่ห้อ 5 |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 22 ต.ค. - 1 พ.ย. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house based on FDA-BAM, 2001 (Chapter 17)
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/