เพื่อสุขภาพที่ดีการออกกำลังกาย เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์นับเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น น้ำสมุนไพรจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้รักสุขภาพ
น้ำสมุนไพรมีอยู่มากมายหลากหลายอย่าง บางชนิดจะมีรสเฉพาะ ทั้งขมและเฝื่อน ทำให้ดื่มยาก จึงต้องเติมรสหวานจากน้ำตาลผสมเข้าไป ถ้าเติมปริมาณพอเหมาะย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าเติมมากเกิน การดื่มน้ำสมุนไพรอาจกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิก
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่า ใน 1 วัน เราควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 25 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา ปริมาณเพียงเท่านี้ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้และไม่ทำให้เกิดโทษ
เพื่อเอาใจบรรดาผู้รักสุขภาพ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างน้ำสมุนไพรบรรจุขวด 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนำมาวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาล (ฟรักโทส, กลูโคส, ซูโครส, มอสโทส และแล็กโทส)
ผลการวิเคราะห์พบว่า ตัวอย่างน้ำสมุนไพรมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 4.81-14.60 กรัม/น้ำสมุนไพร 100 มิลลิลิตร หรือหากคิดต่อน้ำสมุนไพร 1 ขวด พบมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 10.58-43.80 กรัมต่อขวด
จากผลวิเคราะห์จะเห็นว่าถ้าใน 1 วันเราดื่มน้ำสมุนไพร 1 ขวด ร่างกายก็ได้รับน้ำตาลเกือบเกินและเกินปริมาณที่ WHO แนะนำโดยยังไม่นับรวมน้ำตาลที่ได้จากอาหารอื่นๆ
เพื่อสุขภาพที่ดีขอแนะว่า เลือกดื่มน้ำสมุนไพรที่หวานน้อย หรือเป็นสูตรลดน้ำตาลจะดีกว่า หรือหันมาดื่มน้ำเปล่าแทน ลดโรค ลดเสี่ยงเบาหวานถามหา.
ผลวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในน้ำสมุนไพร
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (กรัม/ 100 มิลลิลิตร) |
ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (กรัม/ 1 ขวด) |
น้ำกระเจี๊ยบ จากร้านแผงลอย ย่านหนองแขม |
10.19 |
30.57 กรัม |
น้ำลำไย จากร้านแผงลอย ย่านอรุณอมรินทร์ 36 |
14.60 |
43.80 กรัม |
น้ำเก๊กฮวย จากร้านแผงลอย ย่านจรัญสนิทวงศ์ |
11.96 |
35.88 กรัม |
น้ำเก๊กฮวย จากร้านแผงลอย ย่านคลองหลวง |
8.16 |
20.40 กรัม |
น้ำใบบัวบก ร้านย่านบางกะปิ |
4.81 |
10.58 กรัม |
วันที่วิเคราะห์ 30-31 ตุลาคม 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T997 based on AOAC(2016) 982.14
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/