ปีนี้ประเทศไทยอากาศหนาวเย็นกว่าทุกๆปี หลายคนต้องใส่เสื้อกันหนาว เพราะอากาศเย็นๆแบบนี้อาจทำให้หลายคนป่วยเป็นหวัด ไอ จาม และเป็นไข้กันได้
การเลือกรับประทานอาหารกลุ่มที่มี “วิตามินซี” เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันหวัดและเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เนื่องจากวิตามินซีมีคุณสมบัติทำให้เม็ดเลือดขาว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมีประสิทธิภาพและยังช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคเลือดออกตามไรฟัน และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
คนไทยเราโชคดีที่อาหารไทยส่วนใหญ่มีผักเป็นส่วนประกอบ และทานผลไม้เป็นของหวาน หากทานเป็นประจำจะไม่ค่อยเจ็บป่วยแถมยังมีผิวพรรณสวยใสด้วย ผักผลไม้ทั่วไปที่มีปริมาณวิตามินซีสูง ได้แก่ พริกหวาน บรอกโคลี คะน้า กะหล่ำ ปวยเล้ง ใบมะรุม มะนาว มะเขือเทศส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม ลิ้นจี่ สตรอว์เบอร์รี
วิตามินซีจากผักผลไม้ จะช่วยตอบโจทย์ทั้งเรื่องช่วยป้องกันหวัด ต่อต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับจากมลพิษต่างๆ วิตามินดังกล่าวช่วยชะลอริ้วรอย ความแก่ชรา ทำให้ผิวพรรณมีสุขภาพดีให้กับคนไทยได้ในช่วงอากาศหนาวเย็นผักและผลไม้เป็นแหล่งวิตามินซีที่สำคัญ
เพื่อการบริโภคที่ได้รับประโยชน์เต็มร้อย “สถาบันอาหาร” จึงสุ่มตัวอย่างผักผลไม้สด 5 ตัวอย่าง จากร้านค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นำมาวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี ผลปรากฏ ตัวอย่างผักผลไม้สด 100 กรัม มีปริมาณวิตามินซี ในช่วง 3.63-93.04 มิลลิกรัม โดยปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 60 มิลลิกรัม
ฉะนั้น หากอยากได้วิตามินซีตามปริมาณที่แนะนำ ควรเลือกชนิดและปริมาณผักผลไม้ในตารางด้านล่างกันได้ตามความชอบ เช่น เลือกทานฝรั่งสด 150 กรัม จะได้วิตามินซีถึง 62.22 มิลลิกรัมแล้ว ขอแนะเพิ่มสักนิดว่าเลือกซื้อเลือกทานผักผลไม้ที่สดใหม่ ไม่เหี่ยวเฉาและไม่ผ่านการปรุงสุกจะดีกว่า เพราะวิตามินซีเสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน แต่อย่าลืมว่าต้องล้างน้ำให้สะอาดอย่างถูกวิธีด้วยเพื่อความปลอดภัย.
ผลวิเคราะห์ปริมาณ วิตามินซี ในผัก-ผลไม้
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
วิตามิน ซี (มิลลิกรัม/ 100 กรัม) |
ฝรั่ง จากตลาดย่านนทบุรี |
41.48 |
ส้มเขียวหวาน จากซูเปอร์มาร์เก็ตย่านมีนบุรี |
6.52 |
พริกหวาน จากร้านค้าย่านคลองหลวง |
93.04 |
ปวยเล้ง จากร้านค้าในตลาดองค์พระปฐม |
3.63 |
คะน้า จากตลาดย่านบางกะปิ |
42.90 |
วันที่วิเคราะห์ 31 ต.ค.- 6 พ.ย. 2562 วิธีวิเคราะห์ In-house method T972 based on
International Federation of Fruit Juice Producers (IFU), No.17a, 1995
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/