สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันบูดกับขนมเปี๊ยะ

สารกันบูดกับขนมเปี๊ยะ

          ขนมเปี๊ยะ คนจีนนิยมใช้ในงานหมั้น งานแต่ง งานมงคล เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เทพเจ้าและเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพราะเป็นขนมแห่งความสิริมงคล และคนจีนนิยมรับประทานคู่กับชาร้อนๆ

          ขนมเปี๊ยะดั้งเดิมมีส่วนประกอบแป้ง ไส้ถั่วกวน ไข่เค็ม ซึ่งกระบวนการทำขนมเปี๊ยะค่อนข้างยุ่งยากมีเทคนิคเฉพาะ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อจากร้านค้า โดยการเลือกนั้นควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มั่นใจว่าใช้วัตถุดิบคุณภาพดี มีการผลิตที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ไม่เติมสารเคมีสารกันบูด ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

         ด้วยความที่ไส้ถั่วกวนในขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ทำให้จุลินทรีย์และเชื้อราเกิดขึ้นง่าย ทำให้ขนมเปี๊ยะเน่าเสีย ผู้ผลิตบางรายจึงเติมสารกันบูดเช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิกลงไป เพื่อยืดอายุการเก็บและทำให้วางขายขนมเปี๊ยะได้นานหลายวัน โดยกรดดังกล่าวหากร่างกายได้รับในปริมาณน้อยจะไม่สะสม เนื่องจากร่างกายจะขจัดความเป็นพิษได้

         แต่ถ้าได้รับในปริมาณสูงมาก จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง อาจส่งผลถึงขั้นพิการ

         เพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย สถาบันอาหาร จึงทำการสุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์สารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกปนเปื้อน ผลปรากฏพบกรดเบนโซอิกในขนมเปี๊ยะจำนวน 2 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณน้อยและยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เรื่องวัตถุเจือปนอาหารใช้กรดเบนโซอิกในขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลักได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

        เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าเลือกซื้อขนมเปี๊ยะที่บนฉลากระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสียจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins