กรรมวิธีการถนอมอาหารให้เก็บไว้ทานได้นานๆ มักจะหนีไม่พ้นการหมักดอง หากเป็นผลไม้ดองจะนิยมทานกับพริกเกลือเปรี้ยวๆ เค็มๆ แก้วิงเวียนและคลื่นไส้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นผักที่นิยมนำมาดองคือผักกาดเขียวเพราะตัวผักมีรสขม ก้านใบมีเนื้อแน่นนำมาดองไม่เปื่อยยุ่ยง่าย
ส่วนผสมในการดองมีหลายสูตร มีทั้งน้ำ เกลือ น้ำตาล น้ำซาวข้าว น้ำส้มสายชู บางรายใช้วิธีการขยำผักกับเกลือให้เข้ากัน บีบน้ำออกจากผักเพื่อช่วยลดความขม ล้างออกใส่น้ำซาวข้าว น้ำตาลทราย หมักทิ้งไว้ 3 วัน นำมารับประทานได้ หรืออาจใช้วิธีต้มน้ำเดือด ใส่เกลือ น้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย แล้วเทลงในภาชนะที่ใช้หมัก นำไปตากแดดไว้ 3 วัน ทว่าการหมักดองอาจทำให้สีของผักซีด จาง
เพื่อให้ผักดองมีสีสัน สวย สดใสและน่าทาน ผู้ผลิตบางรายจึงมีการเติมสีผสมอาหารโดยเฉพาะสีเหลืองในขั้นตอนการผลิต ตามกฎหมายไทย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใส่สีผสมอาหาร ตาร์ตราซีน (สีเหลือง) ในผัก สาหร่ายทะเล ดอง ได้ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งหากใส่เกินกว่านี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างผักกาดดอง จำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ นำมาวิเคราะห์สีผสมอาหารสังเคราะห์ 8 ชนิด ได้แก่ เอโซรูบีน (สีแดง), ปองโซ 4 อาร์ (สีแดงสด), อีริโทรซิน (สีชมพู), ฟาสต์ กรีน เอฟซีเอฟ (สีเขียว), อินดิโกทิน (สีน้ำเงิน), บริลเลียนต์ บลู เอฟซีเอฟ (สีน้ำเงิน), ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ (สีเหลืองส้ม) และตาร์ตราซีน (สีเหลือง)
ผลปรากฏ พบว่าผักกาดดองทั้ง 5 ตัวอย่าง มีการใช้สีผสมอาหารตาร์ตราซีน แต่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ แม้ผลวิเคราะห์จะปลอดภัย แต่ขอแนะว่าเลือกซื้อผักกาดดองที่มีสีตามธรรมชาติจะดีกว่า แม้จะไม่สวยงามน่าทานแต่ก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อร่างกายในระยะยาว.